สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่า องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (ดับเบิลยูโอเอเอช) เปิดเผยในรายงานฉบับล่าสุดว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ วัว สุนัข และแมว ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เชื้อไวรัสอาจปรับตัว เพื่อแพร่กระจายระหว่างมนุษย์ได้ในที่สุด
จำนวนการระบาดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พุ่งสูงขึ้นเป็น 1,022 ครั้ง ใน 55 ประเทศ เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับ 459 ครั้ง ในปี 2566 ตามข้อมูลของดับเบิลยูโอเอเอช
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพส่งสัญญาณเตือน ถึงภัยคุกคามจากโรคไข้หวัดนก รวมถึงสัญญาณของการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในวัวนมที่สหรัฐ
รายงานเตือนด้วยว่า ไข้หวัดนกเป็นมากกว่าวิกฤติสุขภาพสัตว์ แต่เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ที่ทำให้ภาคเกษตรกรรม ความมั่นคงด้านอาหาร การค้า และระบบนิเวศไม่มั่นคง
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในนก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ เช่นในกรณีของฝรั่งเศส การฉีดวัคซีนต้านโรคไข้หวัดนกให้กับสัตว์ปีก เมื่อปี 2566 ช่วยให้การแพร่ระบาดในปีนั้น เกิดขึ้นเพียง 10 ครั้ง จากที่เคยคาดการณ์ไว้ ว่าอาจสูงถึง 700 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม การรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ การเฝ้าระวัง ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น และความร่วมมือระดับโลก ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญ และหน่วยงานได้เรียกร้องให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่เหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ทำให้สัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ อพยพไปยังพื้นที่ใหม่ และโรคอุบัติใหม่เกือบ 70% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีศักยภาพที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์
นอกจากนั้น ความต้านทานที่เพิ่มขึ้นของโรคบางชนิดต่อยาปฏิชีวนะ ถือเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อสุขภาพระดับโลก ความมั่นคงด้านอาหาร และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES