สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครหนานหนิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่าปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ “เทศกาลไทย” “เทศกาลทุเรียน” ขึ้นตามเมืองใหญ่หลายแห่งของจีน จนกลายเป็นไฮไลต์ใหม่ของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน


เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง จัดงาน “เทศกาลชอปปิงผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและเทศกาลทุเรียนไทยปี 2025” ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ภายในงานมีสินค้าไทยหลากหลาย ทั้งอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน หัตถกรรม ฯลฯ โดย “ทุเรียน” เป็นสินค้าซึ่งรับความสนใจมากที่สุดจนกลายเป็น “ดาวเด่น” ประจำงาน

เทศกาลชอปปิงผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและเทศกาลทุเรียนไทย ปี 2025 ที่นครหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน


ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า เมื่อปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นประวัติการณ์ มีปริมาณอยู่ที่ 1.56 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 228,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9.4% และ 4.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบแบบปีต่อปี โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนสู่ตลาดจีนรวม 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 130,000 ล้านบาท)

เฉินอี้เฉียว หนึ่งในผู้จำหน่ายผลไม้ที่ตลาดค้าส่งผลไม้ไห่จี๋ซิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เปิดเผยว่าทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเมืองระดับ 1 ทั้งยังถูกจัดให้เป็น “สินค้าสุดฮอต” ในบรรดาเมืองระดับ 3 และ 4 หลายต่อหลายครั้ง

แค่ที่นครหนานหนิงเพียงแห่งเดียว ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อ 5 ปีก่อน แม้มีทุเรียนจากเวียดนาม มาเลเซีย และอีกหลายประเทศเข้ามาตีตลาดจีน แต่ทุเรียนไทยยังคงมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและชื่อเสียงของแบรนด์

ร้านขายทุเรียนบนท้องถนน ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน


ขณะเดียวกัน การเลือกซื้อทุเรียนของผู้บริโภคชาวจีน มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ต การซื้อแบบกลุ่ม ไปจนถึงการซื้อทางออนไลน์ผ่านไลฟ์สดพร้อมจัดส่งแบบทันที ช่วยให้ทุเรียนเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ไทยจัดแสดงที่เทศกาลทุเรียน ที่นครหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน


นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียน เช่น ชานมทุเรียน ขนมไหว้พระจันทร์ทุเรียน และขนมทุเรียน ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น “ปัจจุบันทุเรียนไม่ได้เป็นแค่ผลไม้ แต่เป็นสื่อกลางในการเสพประสบการณ์ของผู้บริโภค” เฉินกล่าว


ท่ามกลางการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไทยพยายามใช้ทุเรียนเป็นสื่อกลาง เพื่อสร้างการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ทุเรียนอาจเป็นเพียงการเปิดประสบการณ์รสชาติแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวต่างชาติ ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไป เราย่อมจะได้เห็นถึงการคัดสรร และการแสดงออกของคุณค่าทางวัฒนธรรมของไทย.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA