สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่า ขนมปังชิ้นนี้มีลักษณะกลมแบนคล้ายแพนเค้ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีค้นพบระหว่างการสำรวจ ที่เมืองคุลลูโอบา ใกล้กับจังหวัดเอสคีเชฮีร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ตอนกลางของดินแดนอานาโตเลีย หรือเอเชียไมเนอร์

ภาพถ่าย “ขนมปังโบราณ” ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 5,000 ปี ซึ่งนักโบราณคดีค้นพบที่จังหวัดเอสคีเชฮีร์ ประเทศตุรกี

นายมูรัต เติร์กเทกิ นักโบราณคดี และผู้อำนวยการการขุดค้นในครั้งนี้ กล่าวว่า การค้นพบขนมปังเป็นชิ้น ๆ ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เนื่องจากการขุดค้นโดยปกติ มักพบเพียงเศษของมันเท่านั้น แต่ขนมปังชิ้นนี้ถูกเผาและฝังเอาไว้ใต้ทางเข้าบ้าน เมื่อประมาณ 3,300 ปีก่อนคริสตกาล

ส่วนผสมของขนมปัง “คุลลูโอบา”

ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ขนมปังทำจากแป้งเอมเมอร์บดหยาบ ข้าวสาลีพันธุ์โบราณ และเมล็ดถั่วเลนทิล รวมถึงใบของพืชที่ยังไม่ระบุชนิดที่ใช้แทนยีสต์ แต่เมล็ดข้าวสาลีโบราณนั้น หาไม่ได้ในปัจจุบัน จึงเลือกใช้ข้าวสาลีคาวิลกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียง รวมทั้งข้าวสาลีบัลกูร์และถั่วเลนทิล

พนักงานทดสอบความเหนียวของแป้ง ระหว่างการนวดส่วนผสมเพื่อทำขนมปัง “คุลลูโอบา”

ที่ร้านเบเกอรี่ “Halk Ekmek” (ฮัลค์ เอคเมค) ซึ่งหมายถึง “ขนมปังของประชาชน” ในภาษาตุรกี จำหน่ายขนมปังคุลลูโอบาขนาด 300 กรัม ในราคา 50 ลีรา (ราว 41 บาท) ซึ่งอบใหม่เพียงวันละ 300 ก้อน และขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ประจำเบเกอรี่ท้องถิ่นกับขนมปัง “คุลลูโอบา” ที่อบเสร็จแล้ว

นางไอซ์ อันลูเช นายกเทศมนตรีเมืองคุลลูโอบา กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ จุดประกายความหวังให้กับการฟื้นฟูการเพาะปลูกข้าวสาลีคาวิลกา ที่มีความทนทานต่อภัยแล้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิกฤติการณ์ด้านสภาพอากาศ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญอยู่.

เครดิตภาพ : AFP