เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณน้ำตกภูห้วยทราย บ้านหัวบึง ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าชุมชนของตำบลบ้านใหม่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอครบุรี เพียงแค่ 7 กิโลเมตรเท่านั้น ล่าสุดได้มีการพบ “ด้วงดินขอบทองแดง” หลายตัว กำลังออกหากินตามผืนป่าใกล้น้ำตก ที่มีสภาพเป็นป่าเต็งรังสมบูรณ์ โดยด้วงชนิดนี้ถือเป็นแมลงปีกแข็งที่มีหาได้ยากมากชนิดหนึ่ง และอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางระบบนิเวศในป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.จริยา รอดดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ให้ข้อมูลภายหลังจากที่ได้ตรวจสอบภาพและคลิปวิดีโอที่ชาวบ้านได้ถ่ายมาให้ ว่า ด้วงดินขอบทองแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Mouhotia batesi เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งในลำดับ Coleoptera วงศ์ Carabidae เป็นแมลงที่มีลักษณะเด่นคือ บริเวณขอบอกและรอบปีกมีเหลือบสีชมพูสวยงาม มีเขี้ยวขนาดใหญ่ ลำตัวสีดำ ขนาดตัวจากปลายเขี้ยวจนถึงปลายท้องยาว 34-60 มม. มีขายาวแข็งแรง ปีกคู่แรกเนื้อปีกเชื่อมติดเป็นชิ้นเดียว ช่วยปกป้องอวัยวะภายใน ซึ่งด้วงดินขอบทองแดงยังสามารถฉีดสารเคมีที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง เพื่อป้องกันตัวจากนักล่า

นอกจากนี้ ด้วงดินขอบทองแดง ยังมีชื่อเรียกท้องถิ่นในภาษาอีสาน ว่า “แมงเลี้ยงน้อง” เนื่องจากมีความเชื่อแต่โบราณว่า หากนำเปลือกของแมลงชนิดนี้มาคล้องคอหรือข้อมือให้เด็กอ่อน จะทำให้เด็กเลี้ยงง่าย ไม่งอแง และเจ็บป่วยบ่อย ในประเทศไทยมีโอกาสพบด้วงดินขอบทองแดงได้เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ มักพบในป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ด้วงดินขอบทองแดง มักพบได้บริเวณที่มีเศษซากพืชตามพื้นดินในป่าดิบแล้ง พบได้ช่วงฤดูฝน และสามารถพบเห็นได้ในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาหารของด้วงชนิดนี้ คือ แมลง กิ้งกือ และตะขาบ และเนื่องจากด้วงชนิดนี้มีสีสันเฉพาะตัวที่สวยงาม จึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมแมลง และทำให้ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันด้วงดินขอบทองแดงเป็น 1 ใน 4 ของชนิดด้วง ที่อยู่ที่จำนวน 20 สัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกแมลง ซึ่งประกอบด้วย ผีเสื้อกลางคืน 4 ชนิด ผีเสื้อกลางวัน 12 ชนิด และด้วง 4 ชนิด ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ “ห้ามล่า ห้ามค้า และห้ามครอบครอง”
