ประเทศไทยเดินหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดตัว ‘Thailand Taxonomy ระยะที่ 2’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการยกระดับแนวทางการจัดประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เป็นการขยายขอบเขตจากระยะที่ 1 ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 โดยในระยะใหม่นี้ได้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 4 สาขาหลัก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตรกรรม ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย จากเดิมที่มุ่งเน้นในภาคพลังงานและการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดของประเทศ ทั้งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานกว่า 32 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับการประเมินและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระดับประเทศ
การจัดกิจกรรมเปิดตัวในครั้งนี้ได้รับการรับรองเป็น ‘กิจกรรมคาร์บอนนิวทัล’ (Carbon Neutral Event) ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการคำนวณและชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมอย่างครบถ้วน พร้อมได้รับตราสัญลักษณ์ “Carbon Neutral Logo” อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

‘ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช’ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “กรมฯ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลไกราคาคาร์บอน เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน และกลไกการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมให้ภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดกระบวนการจัดตั้ง ‘กองทุนภูมิอากาศ’ ซึ่งอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทุนหมุนเวียนแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กัน
ทั้งนี้ ดร.พิรุณ ย้ำว่า Thailand Taxonomy จะเป็นแนวทางสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของกองทุนภูมิอากาศ ตลอดจนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ ในการกำหนดเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยระบุว่า “เราไม่รอให้กฎหมายแล้วเสร็จก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการ แต่ได้เร่งจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ให้มีความพร้อมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวต่อบริบทโลกที่ไม่พึ่งพาพลังงานฟอสซิล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว”
สำหรับแนวทางในอนาคต ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติฉบับใหม่ หรือ NDC 3.0 ซึ่งจะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปีข้างหน้า และเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 30 (COP30) เพื่อแสดงเจตจำนงและความก้าวหน้าของไทยต่อเวทีนานาชาติ
Thailand Taxonomy จึงไม่ใช่เพียงกรอบแนวทางทางเทคนิค หากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและเป็นธรรมในระยะยาว