เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมนาข้าวหลังจากที่ฝนตกลงมาติดต่อกันหลายวัน และได้สอบถาม นายอ่อนสี สุภี อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 6 บ้านคำผง หมู่ 5 ต.คำผง อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเองมีที่นา 4 ไร่ หลังจากที่ได้หว่านข้าวลงไปได้หลายวัน พอข้าวจะงอกออกมาก็มาเจอฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้ข้าวที่หว่านต้องจมน้ำเสียหายไปหมด และเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ทางอำเภอรับมาก็นำมาแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกร หลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างนี้แล้ว ข้าวกล้าก็เสียหายและหมดปัญญาไม่รู้จะหาเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไหนได้อีก ถึงแม้ว่าตนเองจะสูบน้ำออกไปแล้วหลายครั้งแต่ฝนก็ยังตกมาต่อเนื่อง

นางศิริรัตน์ สันทาลุนัย อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 148 บ้านหนองแล้ง ต.หนองไผ่ล้อม อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเองทำนา 10 กว่าไร่ หลังจากที่ฝนตกลงมาติดต่อกันหลายวัน ทำให้น้ำที่ไหลมาท่วมขังนาข้าวของตนและของพี่น้องของตนเสียหายหลายไร่ ในขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งไปยังเกษตรอำเภอเพื่อให้ได้รับทราบว่าจะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร เพราะข้าวของตนถูกน้ำท่วมขังมาหลายวันแล้ว ถ้าหากภายในอีก 2-3 วันนี้ถ้าน้ำยังท่วมขังและยังไม่มีที่ระบาย นาข้าวของชาวบ้านก็คงจะต้องเน่าเสียเต็มท้องนาเลย

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ออกตระเวนในพื้นที่รอยต่อระหว่างสุรินทร์-ศรีสะเกษ และได้ไปสำรวจพื้นที่เขื่อนราษีไศล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง สำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนราษีไศล เพื่อให้เกิดความสมดุลกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น และให้เป็นไปตามเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนราษีไศล (Operation Curve) โดยได้ดำเนินการในวันเสาร์ที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมเปิด 1 บาน ระยะ 0.05 ม. คิดเป็นการระบายน้ำ 4.182 ลบ.ม./นาที หรือ 0.361 ล้าน ลบ.ม./วัน ปรับเพิ่มการระบายเป็นเปิดระยะยก 0.05 ม. คิดเป็นการระบายน้ำ 8.440 ลบ.ม./นาที หรือ ล้าน ลบ.ม./วัน