“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงสุพรรณบุรี-นครหลวง-ชุมทางบ้านภาชี และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) มีความเหมาะสม และคุ้มค่า ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2569 ใช้งบศึกษา 57 ล้านบาท ตามแผนงาน จะขอความเห็นชอบ EIA ในขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จในปี 2570 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบปี 2571 ออกกฎหมายเวนคืนและเริ่มก่อสร้าง ปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2576

ขณะนี้ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมแล้ว มีจุดเริ่มต้นแยกจากแนวทางรถไฟเดิม สายสุพรรณบุรี-หนองปลาดุก (ราชบุรี) บริเวณก่อนถึงสถานีสุพรรณบุรี ประมาณ 4.5 กิโลเมตร (กม.) จากนั้นเบี่ยงขวาออกจากทางรถไฟเดิม ก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟกับ ทล.357 มุ่งทิศตะวันออกขนาน ทล.357 ข้ามแม่น้ำท่าจีน ผ่าน ทล.340 ผ่านทุ่งรับน้ำบึงผักไห่ ข้ามแม่น้ำน้อย ผ่านพื้นที่บ่อทรายขนาดใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ผ่าน ทล.309 ด้านทิศใต้ ห่างตัวเมืองของอำเภอป่าโมก 6 กม. ผ่าน ทล.347 และ ทล.32 ข้ามแม่น้ำลพบุรี แล้วเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำป่าสัก รองรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือ อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน ทล.33 แล้วจึงเข้าบรรจบทางรถไฟเดิม ที่บริเวณชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีระยะทางตัดใหม่รวม 65.5 กม. และแนวเส้นทางเดิมช่วงต้นและปลายโครงการประมาณ 8 กม. รวมทั้งเส้นทางประมาณ 73 กม.
เส้นทางช่วงตัดใหม่ 65.5 กม. จะต้องใช้พื้นที่แนวเวนคืนประมาณ 3,448 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 161 หลัง โดยออกแบบแนวเส้นทางเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร มี 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีสะแกย่างหมู, สถานีสุพรรณบุรีใหม่, สถานีบ้านกุ่ม และสถานีบางปะหัน คาดว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 5 ล้านคนต่อปี และปริมาณสินค้าประมาณ 11 ล้านตันต่อปี

รถไฟสายนี้เป็น 1 ในโครงการรถไฟสายใหม่ (ทางคู่ระยะที่ 3) ของแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) ระยะเร่งด่วน (ปี 2566-2570) เมื่อเปิดบริการจะเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือเข้ากับเส้นทางรถไฟสายสุพรรณบุรี-หนองปลาดุก (ราชบุรี) เพื่อรองรับการเดินทาง และการขนส่งระหว่างภาคใต้ ภาคตะวันตกกับภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือได้อย่างสะดวก เดินทางได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องผ่านเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ รฟท. ยังมีแผนพัฒนาทางรถไฟสายสุพรรณบุรี-หนองปลาดุก จากปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว ให้เป็นทางคู่ด้วย ซึ่งจะมีการศึกษารายละเอียด และดำเนินโครงการต่อไป