กระแสความนิยมตุ๊กตาเด็กและเด็กอ่อน “รีบอร์น” (Reborn Doll) ที่มีความเหมือนจริงจนน่าขนลุกในประเทศบราซิล กลายเป็นประเด็นระดับชาติหลังจากทำให้เกิดการถกเถียงและแบ่งแยกทางสังคมอย่างรุนแรง
ตุ๊กตารีบอร์นผลิตจากวัสดุประเภทซิลิโคนหรือไวนิล มีขนาดเท่าคนจริงและรายละเอียดที่เหมือนทารกจริงมาก เช่น มีรอยย่นบนผิวหนังและเห็นรอยเส้นเลือด มีขนตาและเล็บ บางตัวสามารถร้องไห้ ดูดจุกนม และขับถ่ายได้ จำหน่ายในราคาหลากหลาย และมีบางตัวที่ราคาสูงหลายพันดอลลาร์สหรัฐ
ความต้องการตุ๊กตาเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ใหญ่เพศหญิง
กาบี มาโตส วัย 21 ปี เป็นหนึ่งในนักสะสมตุ๊กตารีบอร์นที่มีชื่อเสียง เธอมีตุ๊กตาประเภทนี้ในครอบครองถึง 22 ตัว และสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลตุ๊กตาของเธอเผยแพร่ผ่านช่องยูทูบซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้านคน
แม้มาโตสจะได้รับคำชื่นชมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าควรไปรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช เพราะผู้คนเข้าใจผิดว่าเธอปฏิบัติต่อตุ๊กตาเหล่านี้เหมือนเป็นลูกจริงๆ ซึ่งเธอปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างที่บราซิล เมื่อมีการจัดกิจกรรมชุมนุมนักสะสมตุ๊กตารีบอร์นในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งที่กรุงเซาเปาโลในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการเผยแพร่วิดีโอการ “คลอด” ตุ๊กตารีบอร์นของอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นการบันทึกภาพการนำตุ๊กตาออกจากถุงที่ดูเหมือนถุงน้ำคร่ำ ก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายบนโซเชียลมีเดีย โดยบางส่วนประณามว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรกที่ไม่มีพิษภัย
อะลานา เจเนโรโซ เจ้าของร้านจำหน่ายตุ๊กตารีบอร์นวัย 46 ปี ยืนยันว่า ลูกค้าของเธอ “มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์” ร้าน “อะลานา เบบีส์ มาเทอร์นิตี ฮอสปิตัล” ของเธอในเมืองกัมปินาส ออกแบบมาให้เหมือนแผนกสูตินรีเวชจริงๆ โดยมีการออกใบสูติบัตรของตุ๊กตาให้ผู้ซื้อหรือ “พ่อแม่” ด้วย ทั้งนี้ เธอมองว่าลูกค้าไม่ได้แค่ซื้อตุ๊กตา แต่กำลังซื้อ “ความฝัน”

การถกเถียงเรื่องตุ๊กตาเด็กนี้ลุกลามไปถึงรัฐสภาบราซิลด้วย สส. บางคน เรียกร้องให้บรรดา “คุณแม่” ของตุ๊กตารีบอร์นไปรับการช่วยเหลือทางจิตวิทยา ขณะที่บางคนเรียกร้องให้มีบทลงโทษผู้ที่ใช้ตุ๊กตาเหล่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อแซงคิวการใช้บริการสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ยังมี สส. บางคนออกมาแสดงความเห็นในทางตรงข้าม โดยมองว่าการ “เล่นตุ๊กตา” แบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรือผิดปกติ
วิเวียน คุนยา นักจิตวิทยามองว่า การสะสมตุ๊กตาเป็นงานอดิเรกจะถูกจัดว่าเป็น “ความผิดปกติ” ก็ต่อเมื่อ “ก่อให้เกิดความเสียหายทางสังคม อารมณ์ หรือเศรษฐกิจ” เช่น เจ้าของตุ๊กตาที่ไม่ไปทำงานเพราะคิดว่า “ลูกตุ๊กตาป่วยเป็นไข้” ผู้ที่เชื่อจริงๆ ว่าตุ๊กตาป่วยได้แบบนี้ ต้องรับการรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วน

เธอยังชี้ว่า กระแสความนิยมนี้มีความเชื่อมโยงกับภาวะแห่งความเหงาของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด
มาโตส สาวนักสะสมตุ๊กตารีบอร์นโต้แย้งว่าการวิพากษ์วิจารณ์คนเล่นหรือสะสมตุ๊กตาเหล่านี้คือการเหยียดหรือกีดกันทางเพศ โดยเปรียบเทียบว่างานอดิเรกของผู้ชาย เช่น การเล่นวิดีโอเกม การเล่นว่าว หรือฟุตบอล กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีใครมองว่า “แก่เกินไป” ที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้ ขณะที่ผู้หญิงที่โตแล้วกลับถูกสังคมตัดสินว่า “จิตป่วย” เมื่อแสดงความใส่ใจดูแลตุ๊กตาของตน
เครดิตภาพ : AFP