เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ท่าข้าวศรีสุพรรณ หมู่ 4 ต.บางตาเถร จ.สุพรรณบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บางปลาม้า อ.เมือง และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จำนวนประมาณ 300 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำขังในพื้นที่ รวมตัวกันลงชื่อร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีกรมชลประทาน กรณีบริหารจัดการน้ำไม่เป็นธรรม โดยมี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นตัวแทนรับเรื่องแจ้งความ ก่อนรวบรวมรายชื่อ และพยานหลักฐาน

ดร.อุดม กล่าวว่า ตนในฐานะนักกฎหมายเข้ามาดูแลเรื่องนี้ให้ชาวบ้านที่ร้องเรียนว่า ได้รับความเสียหายจากการที่กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ได้รับความเสียหาย ไม่มีหนทางใดที่จะไปบังคับชลประทานในการที่จะหยุดให้การผันน้ำมาในพื้นที่ จึงมารวมตัวกันใช้สิทธิในการฟ้องชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารการจัดการน้ำ โดยความผิดที่ฟ้องเป็นเรื่องของการละเมิด ในการเรียกค่าเสียหาย ทั่งเรื่องบ่อกุ้ง บ่อปลา นาข้าว นอกจากนี้ยังฟ้องศาลปกครอง ห้ามกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำแบบปีนี้อีก และให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ใช่เห็นสุพรรณบุรีเป็นทุ่งรับน้ำจนเกินที่จะรับได้ จนทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด

ดร.อุดม กล่าวต่อว่า ขณะนี้น้ำในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ท่วมขังนานจนเกิดน้ำเน่าเสีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ หน.ทสจ.สุพรรณบุรี จึงใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยอีเอ็ม เพื่อไม่ให้น้ำเสีย และทางจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ตั้งทีมเพื่อที่จะสำรวจดูเรื่องน้ำขัง และรีบสูบออก เพราะเวลาน้ำมาจะมาสูง แต่เวลากลับส่วนที่ต่ำจะขังอยู่นาน เราจึงต้องเอาพื้นที่กลับมาเพื่อที่จะมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม เรื่องนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นห่วงมาก และได้โฟนอินมาขณะอยู่ต่างประเทศ

ดร.อุดม กล่าวอีกว่า กรมชลประทานเป็นผู้ที่บริหารการจัดการน้ำ มีอะไรก็อ้างว่า คณะกรรมการการจัดการน้ำ จึงขอให้กรมชลประทานมีความคิด มีความเห็นใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน อย่าไปคิดว่าจะต้องรักษาเขตเศรษฐกิจเท่ากับชีวิตเราเอง มันไม่ใช่ ถ้าเรามีการบริหารการจัดการน้ำที่ดี ที่ถูกต้อง พิจารณาว่าน้ำจะไปลงทุ่งไหนบ้าง ลงพื้นที่ไหนบ้าง แล้วเฉลี่ยน้ำกันไป เชื่อว่าปัญหาใน จ.สุพรรณบุรี จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นนี้ ดังนั้นกรมชลประทานต้องกลับมานั่งพิจารณาการบริหารการจัดการน้ำของตนเองว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นถูกไหม ตนเชื่อว่าถ้าในอนาคตยังฝืนทำอยู่อีก ตนคงไม่ฟ้องเรื่องแพ่งอย่างเดี่ยว คงต้องใช้มาตรา 157 เข้ามาบังคับใช้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ด้านนางประเทือง (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 68 ปี ชาวบ้าน ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง กล่าวว่า ตอนนี้ลำบากมากถนนหนทางก็ถูกน้ำท่วมขัง บ้านก็ถูกน้ำท่วมขังเกือบมิดหน้าต่างมานานนับเดือน อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือค่าเยียวยา