“โรคมะเร็ง” ถือเป็นโรคร้ายที่ทำให้หลายคนสะพรึงกลัว กังวลใจอย่างมาก แต่มีมะเร็งชนิดหนึ่งอย่าง “โรคมะเร็งไทรอยด์” ที่มีโอกาสรักษาหายได้สูงหากถูกตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” มีสาระความรู้เกี่ยวกับ “โรคมะเร็งไทรอยด์” ว่ามะเร็งชนิดนี้มักโตช้า และมีแนวโน้มตอบสนองต่อการรักษาได้ดี การรู้จักมะเร็งไทรอยด์ รวมถึงสังเกตอาการเบื้องต้นอย่างใส่ใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ช่วยให้เรารับมือได้อย่างทันท่วงที

ต่อมไทรอยด์ คืออะไร

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นอวัยวะขนาดเล็กรูปทรงคล้ายผีเสื้อ ตั้งอยู่ที่บริเวณลำคอด้านหน้า ใต้ลูกกระเดือกเล็กน้อย แม้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกายผ่านการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็น ฮอร์โมนหลักที่ต่อมไทรอยด์ผลิตคือ ไทรอกซิน (T4) และไตรไอโอโดไทโรนีน (T3) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย

นอกจากนี้ ฮอร์โมนไทรอยด์ยังมีบทบาทในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การทำงานของหัวใจ ระบบประสาท และการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท

การทำงานของต่อมไทรอยด์อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมน T3 และ T4 ในปริมาณที่เหมาะสม หากเกิดความผิดปกติในการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น การผลิตฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพและการทำงานของร่างกายได้

โรคมะเร็งไทรอยด์ คืออะไร

มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อรูปผีเสื้อที่อยู่บริเวณโคนคอด้านหน้า เซลล์ที่เปลี่ยนแปลงนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่อาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงได้ อาการของโรคในระยะแรกมักไม่ชัดเจน แต่เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นก้อนที่ลำคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก

ประเภทของมะเร็งไทรอยด์

1.มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และมีความรุนแรงน้อย โดยเกิดจากเซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ ที่มีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 30–50 ปี

2.มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) พบได้รองจากชนิดพาพิลลารี เกิดจากเซลล์ฟอลลิคูลาร์เช่นกัน แต่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

3.มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) เป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เกิดจากเซลล์ C (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน ระดับแคลซิโทนินในเลือดที่สูงผิดปกติสามารถบ่งชี้การเกิดโรคในระยะแรกเริ่มได้

4.มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงสูง เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและรักษาได้ยาก มักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

5.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ พบได้ยาก มักเกิดในผู้สูงอายุ และเซลล์เนื้อร้ายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

มะเร็งไทรอยด์ เกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การได้รับรังสีบริเวณศีรษะและคอในวัยเด็ก ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์บางประเภท และภาวะต่อมไทรอยด์โต นอกจากนี้ การสัมผัสสารกัมมันตรังสีในปริมาณสูงก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยง “มะเร็งต่อมไทรอยด์”

-ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์

-ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือคอ

-ผู้หญิง (มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า)

-ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์โตเรื้อรังหรือเป็นก้อนในต่อมไทรอยด์

อาการ “มะเร็งต่อมไทรอยด์” เป็นอย่างไร

ในระยะแรก มะเร็งไทรอยด์มักไม่แสดงอาการชัดเจน แต่สัญญาณที่ควรระวัง ได้แก่

-มีก้อนบริเวณคอที่โตขึ้นอย่างช้า ๆ

-กลืนอาหารลำบาก

-น้ำเสียงเปลี่ยน หรือเสียงแหบ

-หายใจลำบาก

-ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตผิดปกติ

หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

การกลืนแร่ I-131 คืออะไร

การกลืนแร่ I-131 หรือไอโอดีน-131 เป็นหนึ่งในวิธีรักษามะเร็งไทรอยด์ที่ได้รับความนิยม แพทย์จะให้ผู้ป่วยการกลืนแร่ I-131 ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ และเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้

การกลืนแร่ I-131 อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น

-อาการคอแห้ง เจ็บคอ หรือบวม

-คลื่นไส้ อาเจียน

-ต่อมน้ำลายอักเสบ ทำให้ปากแห้ง

-การรับรสเปลี่ยนไปชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง หรือบรรเทาได้ด้วยการดูแลตามคำแนะนำของแพทย์

วิธีป้องกัน “มะเร็งไทรอยด์”

แม้โรคมะเร็งไทรอยด์บางประเภท เราจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้

@ หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีโดยไม่จำเป็น

@ กินอาหารที่มีไอโอดีนอย่างพอเหมาะ เช่น เกลือเสริมไอโอดีน อาหารทะเล

@ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเสี่ยง

@ ดูแลสุขภาพโดยรวม เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด

“มะเร็งไทรอยด์” อาจดูน่ากังวล แต่หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาดมีสูง การใส่ใจสังเกตร่างกายตัวเอง ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ และไม่ละเลยสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราสามารถรักษาโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าลืมว่า “พบเร็ว รักษาไว หายได้จริง”.