เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 14.30 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ว่า  หลังจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มอบอำนาจให้กองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดออกคำสั่งมาตรการควบคุมการเปิด-ปิด จุดผ่านแดนในพื้นที่ที่รับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งต่อมาได้มีการออกคำสั่งดังกล่าวครบถ้วนแล้วนั้น ขณะนี้สถานการณ์ชายแดนยังสงบเรียบร้อยดี โดยตนขอยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งปิดด่านทั้งหมดหรือในทันที แต่เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนเหมาะสมตามสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมี 4 ขั้นตอน คือ 1.จำกัดการผ่านแดนเฉพาะผู้ที่มีกรณีจำเป็น อาทิ ผู้ทำการค้าขาย การขนส่ง แรงงาน หรือผู้มีกรณีงานจำเป็นอื่นๆ และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงว่าอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย ขั้นที่ 2 ปรับลดช่วงเวลาเปิด-ปิดจุดผ่านแดน พร้อมทั้งกำหนดเวลาเข้า-ออก อย่างชัดเจน ขั้นที่ 3 ปิดจุดผ่านแดนบางจุด

นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า ขั้นที่ 4 ปิดทุกจุดตลอดแนวชายแดน ในกรณีที่เกิดสถานการณ์วิกฤติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ในระดับสูงสุด ดังนั้นขอให้ประชาชนในบริเวณจุดผ่านแดนติดตามข้อมูลข่าวสารการปรับเวลาปิด-เปิดจุดผ่านแดน เอกสารที่ต้องใช้ในการผ่านแดน และข้อจำกัดต่างๆ ในระยะนี้ ซึ่งแต่ละจุดจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้ 1.กองทัพภาคที่ 1 โดยกองกำลังบูรพาเป็นผู้กำหนดมาตรการสำหรับจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าใน จ.สระแก้ว  2.กองทัพภาคที่ 2 โดยกองกำลังสุรนารีกำหนดมาตรการสำหรับจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าใน จ.อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ 3.กองทัพเรือ โดยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นผู้กำหนดมาตรการสำหรับจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าใน จ.จันทบุรีและตราด

นายนิกรเดช กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิดจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนการค้า ไทย-กัมพูชา และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานราชการ หรือสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการดำเนินตามมาตรการดังกล่าวที่ฝ่ายไทยประกาศนั้น เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่และความปลอดภัยของประชาชนทั้ง 2 ชายแดน ขณะเดียวกัน เราต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ การค้าชายแดน วิถีชีวิต และมนุษยชนควบคู่กัน จึงพยายามไม่ให้มาตรการกระทบกับชาวไทยและกัมพูชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์

“ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่การปิดจุดผ่านแดนทั้งหมด แต่เป็นการพิจารณาจากความจำเป็นต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งการจำกัดเวลาเปิด-ปิดเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างเหมาะสม และกำหนดตามลักษณะเฉพาะและการใช้งานแต่ละจุดผ่าน ทั้งการค้าขาย การศึกษา การเข้ารับบริการทางการแพทย์ และอื่นๆ สามารถทำได้ตามปกติ” นายนิกรเดช กล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยยืนยันมาตลอดในทุกระดับว่าเราปฏิบัติตามและพร้อมใช้กลไกทวิภาคี โดยเฉพาะกลไกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. และปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 ที่เป็นเอกสารตามกฎหมาย และเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมกันและต้องยึดถือ โดยรัฐบาลไทยยืนยันในความเชื่อมั่นว่าการใช้กลไกที่ไทยและกัมพูชามีอยู่ร่วมกันนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อลดความตึงเครียดในสภาวะที่เปราะบางเช่นนี้ เพื่อหาทางออกอย่างสันติ และเคารพซึ่งกันและกัน และด้วยความจริงใจต่อกัน เพื่อให้ชายแดนของเรากลับสู่สภาวะปกติ เกิดความสงบสุขและปลอดภัย ดังนั้น ไทยจึงเรียกร้องอีกครั้งให้ฝ่ายกัมพูชาลดระดับความตึงเครียดตลอดแนวชายแดน และกลับมาใช้กลไกทวิภาคีเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามออกไป

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ข้อความไปก่อนหน้า นายนิกรเดช กล่าวว่า การเปิด-ปิดด่านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า แต่เป็นการทำเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้า

นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า การแถลงข่าวทุกวันมีขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจในจุดยืนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหน่วยงานทหารมาร่วมแถลงด้วย เพื่อให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลและทหารมีแนวทางเดียวกัน เดินหน้ามาตรการทางการทูตและการทหารไปพร้อมๆ กัน ทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันแล้วจะเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนไทยเป็นตัวตั้งสำคัญที่สุด และความอธิปไตยแห่งรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

เมื่อถามว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ไทย-กัมพูชาหรือไม่ เพราะฝ่ายกัมพูชาพยายามสื่อสารให้หลายประเทศเข้าใจว่าไทยจู่โจมหรือรุกรานก่อน นายนิกรเดช กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้พุ่งเป้ามาที่ไทย เพราะกัมพูชาไม่ใช่ประเทศเดียวที่สื่อสาร แต่ฝ่ายไทยได้สื่อสารไปสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนและมิตรประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องบนพื้นฐานความเป็นจริงว่าอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่ไทยสื่อสารคือไทยจัดการปัญหาเองได้ และจะจัดการปัญหาด้วยกลไกทวิภาคี ซึ่งขณะนี้ไทยยังไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากประเทศที่ 3 สำหรับประเทศอื่นที่สนใจและอยากรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นการขอซักถามข้อเท็จจริง เพราะเป็นมิตรประเทศและเป็นประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ซึ่งไทยไม่ได้มีปัญหาอะไรในการอธิบายและแจ้งให้ทราบถึงความเป็นจริงว่าอะไรเกิดขึ้น