นายจักรชัย เงาศรี ตัวแทนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนต้า เปิดเผยว่า เป็นผู้รวบรวมผู้เสียหายที่ใช้รถไฟฟ้า ประมาณ 20 คน เข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สภาองค์กรของผู้บริโภค เนื่องจากมีลูกค้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวกว่า 800 ราย พบปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการหลังการขาย ในด้านการให้บริการของอะไหล่ การจดทะเบียนรถยนต์ คุณภาพของตัวรถยนต์ และส่วนควบ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมจำเป็นที่ควรได้รับจากการโฆษณาการขาย เช่น มีการโฆษณาจากบริษัทว่า จะแถมเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แต่กลับไม่แถม เป็นต้น

ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจากการให้บริการของบริษัทเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งบางรายต้องได้รับผลกระทบนานเกือบ 1 ปี โดยไม่มีกรอบระยะเวลากำหนดของการให้บริการที่แน่นอน อีกทั้งศูนย์บริการของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังกล่าว ได้ทยอยปิดตัวลงทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้รถที่ประสบปัญหาได้มีการร้องเรียนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากทางบริษัทแต่อย่างใด และไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เกี่ยวกับระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา จึงได้ดำเนินการร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยผลักดันแก้ไขปัญหา และหาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยจัดเวทีกลาง เพื่อเจรจาเรียกร้องข้อตกลง ระหว่างกลุ่มผู้ใช้งานที่ประสบปัญหาและบริษัทรถยนต์ยนต์ไฟฟ้า

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้รถที่ได้ยื่นหนังสือต่อสภาองค์กรของผู้ เพื่อให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าแก้ไขปัญหา เช่น ให้เร่งแก้ไขปัญหาการบริการหลังการขาย การรออะไหล่อย่างไม่มีกำหนด ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จดทะเบียนป้ายขาว การบริการเสริมที่ได้สัญญาไว้ เช่น ติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Wall Charger EV) กำหนดมาตราการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการรออะไหล่ และในส่วนที่ไม่ได้รับการจด ทะเบียนตัวรถ

และหากบริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อในประเทศไทยได้ ถือว่าผิดสัญญาการรับประกัน บริษัท จะต้องรับคืนรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวทุกคันจากผู้บริโภค พร้อมทั้งชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคในทุกกรณี อันเนื่องมาจากเหตุรับคืนรถ ขอให้สภาองค์ของผู้บริโภค ตรวจสอบทางบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวว่า มีเจตนาปิดบังอำพราง ข้อมูลซึ้งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ หากพบว่า ข่ายเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จให้แก่ ประชาชนได้รับรู้ได้ทั่วไป และอาจเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่

นายธนพันธุ์ คงเจริญ ผู้ประสานงานผู้เสียหายจากกรณีใช้รถไฟฟ้าเนต้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้ใช้รถยนต์เนต้าในประเทศไทย มีประมาณ 25,000 คัน โดยปัญหาเริ่มต้นประมาณปี 2567 ที่บริษัทแม่ที่ประเทศจีน ประสบปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง โดยปัญหาที่พบแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1) ออกรถแล้วไม่สามารถจดทะเบียนป้ายขาวได้ 2) ปัญหาเรื่องการเคลมอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ และ 3) ปัญหาเรื่องการเคลมอะไหล่ระบบขับเคลื่อน

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการเคลมอะไหล่ทั้งส่วนที่เป็นระบบขับเคลื่อนและชิ้นส่วนอื่น ๆ ของรถยนต์นั้น ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ล่าช้าเนื่องจากศูนย์ไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่ ต้องรอของจากบริษัทแม่ ถึงแม่ในช่วงหลังจะมีของเข้ามาบ้าง แต่ก็เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ที่มีปัญหา จึงมีผู้บริโภคจำนวนมากที่รถยนต์เสียหาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องระบบขับเคลื่อนจึงไม่สามารถใช้งานได้ และยังต้องจอดรอซ่อมอยู่ที่ศูนย์บริการโดยไม่ได้รับค่าขาดประโยชน์ หรือการชดเชยใด ๆ จากบริษัท

“ปัญหาที่ตามมาคือผู้บริโภคถูกปฏิเสธการซ่อมจากศูนย์ เนื่องจากโดยปกติแล้ว ผู้ซื้อรถจะสามารถนำรถเข้าไปใช้บริการในศูนย์ของเนต้าได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าศูนย์ที่ซื้อมาเท่านั้น แต่เมื่อศูนย์บริการหลายแห่งปิดตัวลงเนื่องจากความไม่แน่นอนของบริษัทแม่ ทำให้เกิดปัญหาว่าศูนย์ที่ยังไม่ปิดตัวมีรถเข้าไปขอเคลมเป็นจำนวนมาก จึงปฏิเสธไม่ให้ผู้บริโภคที่ซื้อจากศูนย์อื่นเคลม จึงมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องนำรถไปซ่อมในอู่ข้างนอก ซึ่งจะทำให้บริษัทใช้เป็นข้ออ้างได้ว่ารถที่ซ่อมจากอู่ข้างนอกนั้นหมดประกันกับบริษัทแล้ว”

ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานฯ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการในขณะนี้นั้น ในขั้นแรก ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการเชิญบริษัทผู้ประกอบธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว เข้ามาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้บริโภค ซึ่งทางสภาองค์กรฯ ก็อยากรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งเรื่องบริการหลังการขาย ถ้าหากทางสภาองค์กร พบว่า ไม่มีการตอบรับจากบริษัทที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ในส่วนของสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะนำเรื่องเสนอต่ออนุกรรมการพิจารณาคดีของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อดำเนินการในการฟ้องคดีต่อไป.