เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2568 เวลา 01.57 น. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ด้วยโรคชรา สิริอายุ 91 ปี 10 เดือน 4 วัน กำหนดการพิธีศพจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
สำหรับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (เกิด 6 สิงหาคม พ.ศ. 2476) เป็นนายทหาร และนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2534
ด้านชีวประวัติ
พล.อ.สุจินดา คราประยูร เกิดเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2476 บุตรคนสุดท้องของนายจวงกับนางสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (หนุนภักดี) มีบุตรชาย 2 คน
พล.อ.สุจินดา เข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลักสูตรเวสท์ปอยต์ รุ่นที่ 5
เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่จากฟอร์ทซิลส์ (Fort Sill’s) รัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) สหรัฐอเมริกา สำเร็จหลักสูตรเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 44 เป็นอันดับที่ 1 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาจากฟอร์ทลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth)

จากนั้นเข้ารับราชการทหาร พ.ศ. 2496 ได้รับพระราชทานยศ ว่าที่ร้อยตรี ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 และได้เดินทางไปราชการสงครามที่เวียดนาม ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ต่อมาได้รับพระราชทานยศพันโท และเข้าดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา
ส่วนชีวิตรับราชการ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับ อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เจ้ากรมยุทธการทหารบก ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ รองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก และในวันที่ 29 เม.ย. พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แทน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งลาออกจากราชการ และเมื่อวันที่ 1 ต.ค. พ.ศ. 2534 ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกตำแหน่งหนึ่ง แทน พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ
นอกจากนี้ พล.อ.สุจินดา ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, เหรียญลูกเสือสดุดี, เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก, ปรมาภรณ์มงกุฎไทย, เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2, เหรียญชัยสมรภูมิ (เวียดนาม)
สำหรับบทบาททางการเมือง
พล.อ.สุจินดา เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น เคยเป็นที่ปรึกษา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เลขานุการ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกวุฒิสภา
ต่อมาวันที่ 23 ก.พ. พ.ศ. 2534 พล.อ.สุจินดา ดำรงตำแหน่งรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.อ.สุจินดา ก้าวเป็นนายกฯ คนที่ 19 ของไทย เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ในเวลาสั้นๆ เพียง 48 วัน เกิดเหตุการณ์สำคัญประวัติศาสตร์การเมือง “พฤษภาทมิฬ” 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนเป็นการชั่วคราว
พล.อ.สุจินดา ได้ยุติบทบาทการดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและการให้คำแนะนำทางด้านการเมือง การปกครอง และการปฏิวัติรัฐประหารในยุคต่อ ๆ มาจากประสบการณ์ตรง
ในวันที่ 6 ส.ค. ทุกปี พล.อ.สุจินดา จะเปิดบ้านให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าและนักธุรกิจ เข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ณ บ้านพักซอยระนอง 2 ก่อนเงียบหายไปหลังมีปัญหาสุขภาพ จนกระทั่งเสียชีวิตโรคชราวันนี้.