ปัญหาการขโมยสายไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐเป็นมูลค่าหลายล้านบาทเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ทั้งไฟฟ้าดับ ทางเท้ามืด เสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม บางพื้นที่ระบบระบายน้ำไม่ทำงานส่งผลให้น้ำท่วมขัง รวมถึงทำให้การเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เรียกว่าพฤติกรรมโจรกรรมที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่เดือดร้อนทั้งเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย ‘ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ’ พร้อมระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่
โจรกรรมสายไฟ รัฐเสียหายหลายล้านบาท
จากสถิติแจ้งความกรณีถูกโจรกรรมสายไฟของหน่วยงานสังกัด กทม. มีมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินหลายล้านบาท เช่น จากสำนักการโยธา ในปี 2566 – 2568 ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ เสียหายคิดเป็นเงินกว่า 2,300,000 บาท ในปี 2567 กองควบคุมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เสียหายคิดเป็นเงินเกือบ 1,200,000 บาท งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีช่วงจากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 เสียหายคิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท ในปี 2567 – 2568 โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ เสียหายคิดเป็นเงิน 2,111,211 บาท รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 2 เสียหายคิดเป็นเงิน 33,800 บาท และโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 1 เสียหายคิดเป็นเงิน 31,512 บาท เป็นต้น ซึ่งยังไม่นับรวมกับโครงการอื่น ๆ ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดล้วนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการใน กทม. ทั้งสิ้น
บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่าน 3 มาตรการ
การแก้ไขปัญหากรณีถูกโจรกรรมสายไฟของหน่วยงานอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยแนวทางป้องกันแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการทางเทคโนโลยีและกายภาพ เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอด LED และระบบ IoT พิจารณาใช้วัสดุอื่นทดแทนทองแดง เพื่อลดแรงจูงใจการโจรกรรม การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมโดยตรง การออกแบบที่เข้าถึงยาก รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสัญญาณเตือนภัย หรือรั้วไฟฟ้า (ในพื้นที่ที่เหมาะสม)
- เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุที่เข้าถึงง่าย หรือการให้รางวัลนำจับ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน สอดส่องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
‘ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ’ เป็นการรวมพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อหยุดภัยเงียบนี้ให้ได้

หากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัยให้แจ้งทันทีผ่านทางสายด่วน 1555 หรือ Traffy Fondue หรือแจ้งตำรวจ โทร. 191
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร: https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_297