เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผบก.ปส.1, นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.), นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, เภสัชกรฉัตรชัย พานิชย์ศุภภรณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด, ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงผลจับกุมขบวนการฉ้อโกงลอบซื้อยาควบคุมจาก (อย.) โดยจับกุมผู้ต้องหา รวม 7 ราย แบ่งเป็น ตามหมายจับ 5 ราย ดังนี้ 1.พ.ต.อ.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล นายแพทย์ (สบ5) กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.ตำรวจ 2.นายดุริยลักษ์ อุปชัย 3.นางสาวณัฐพัชร์ ถิระโชติ 4.นายปกรณ์ จันทร์เทพ 5.นายอรชุน จันทนาม ส่วนอีก 2 ราย คือ 6.น.ส.พัชรา และ 7.น.ส.พชรมน ถูกจับพร้อมยึดของกลางวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ยาอัลปราโซแลม ชนิดเม็ด 57,000 เม็ด, ยาโซพิเด็ม ทาเทรท 16,100 เม็ด, ยาฟลูไนตราซีแพม 24,300 เม็ด และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ยาโครนาซีแพม 63,000 เม็ด, ยาคลอราเซพาท 10,000 เม็ด รวมของกลาง วัตถุออกฤทธิ์ จํานวน 170,400 เม็ด รวมถึงตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อไว้ตรวจสอบอีกมูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท

ช็อก! บุกจับ ‘หมอแอร์’ แพทย์ตำรวจคนดัง แอบอ้างคลินิกสั่งซื้อยานอนหลับเสียสาวอื้อ

พล.ต.ต.นพสิทธิ์ ผบก.ปส.1 เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับการประสานแจ้งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีกลุ่มบุคคลลักลอบนำยาควบคุมแผนปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และ 4 ออกนอกระบบ นำไปใช้ในทางที่ผิด จึงได้ทำการติดตามสืบสวนสอบสวน พบกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สั่งการ มีพฤติการณ์สั่งซื้อยาจาก อย. โดยทำการสั่งซื้อในนามของคลินิกทางการแพทย์จำนวน 12 คลินิก ก่อนนำยาดังกล่าวไปเก็บซุกซ่อนในห้องพักส่วนตัว และมีผู้เฝ้ายาดังกล่าว ก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมขบวนการในแต่ละพื้นที่

เจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพราะเชื่อว่ามีความผิดจริง จึงขออำนาจศาลอาญา ออกหมายจับ 5 ราย คือ 1. พ.ต.อ.หญิง (พญ.) อัญชุลี หรือหมอแอร์ ผู้สั่งการและผู้เบิกยาจาก อย. 2. นายดุริยลักษ์ คนเฝ้ายาส่งยาไปในพื้นที่วังทองหลาง 3. นางสาวณัฐพัชร์ คนปล่อยยาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 4. นายปกรณ์ คนปล่อยยาคนปล่อยยาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และ 5. นายอรชุน คนปล่อยยาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุมผู้ต้องหาซึ่งหน้าได้เพิ่มเติมอีก 2 ราย ในจังหวัดนครปฐม คือ นางสาวพัชรา และ นางสาวพชรมน หลังพบว่า ได้ครอบครองตัวยาวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่วมอยู่ในขบวนการดังกล่าว

ผบก.ปส.1 กล่าวอีกว่า ส่วนผลจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหารายย่อยที่จังหวัดนครปฐม ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้เสพ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้ทำการขยายผลพบว่า กลุ่มผู้เสพได้มีการสั่งยาและมีการโอนเงินจาก 1 ใน 5 ผู้ต้องหา ทำให้ทราบว่ามีเส้นเงินดังกล่าวไปยัง พ.ต.อ.หญิง อัญชุลี หรือหมอแอร์

ส่วน พ.ต.อ.หญิง อัญชุลี จะถูกปลดออกจากราชการหรือไม่นั้น ทางกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กำลังเร่งดำเนินการยื่นเรื่องไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาในกรณีดังกล่าว

ด้าน นายแพทย์วิทิต รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า คำสั่งซื้อยาวัตถุประเภท 2 ผู้สามารถสั่งซื้อได้จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และจะต้องได้รับอนุญาตจากทาง อย. เพราะยาประเภทนี้ อย. เป็นผู้ดูแลแต่เพียงผู้เดียว มีอำนาจในการจ่ายยา สำหรับจำนวนการสั่งซื้อจะต้องทำเรื่องขอซื้อหรือเบิกจ่ายยามาก่อน จากนั้นทาง อย. จะพิจารณาจำหน่ายยาออกไปตามความเหมาะสม อย. จะจำกัดจำนวนตัวยาแต่ละประเภทเป็นต่อปี เช่น Alprazolam 120 กรัมต่อปี, Zolpidem 110 กรัมต่อปี และ Flunitrazepam 150 กรัมต่อปี แต่หากกรณีพบผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ยาเหล่านี้ แพทย์ก็จะพิจารณาในการจำหน่ายยาให้เป็นพิเศษ

ส่วนกรณีของหมอแอร์ อย. พบความผิดปกติตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2567 โดยตั้งแต่ปี 65 หมอเริ่มมีการสั่งยาจำนวน 1 ล้านบาท ต่อมา พ.ศ. 2566 ได้เริ่มเพิ่มจำนวนยา เป็นเงินมูลค่า 4 ล้านบาท, พ.ศ. 2567 มูลค่า 11 ล้านบาท และ พ.ศ. 2568 หมอได้เพิ่มจำนวนคลินิกเป็น 12 แห่ง มีการสั่งซื้อยาเพิ่มมากขึ้นประมาณมูลค่า 7-8 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ จนผิดสังเกต

ส่วนกรณีที่พบว่ามีการนำชื่อผู้เสียชีวิตมาสวมเป็นบุคคลมาขอเบิกยาประเภท 2 ออกไปนั้น นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีรายชื่อผู้เสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2541 มาปรากฏเป็นบุคคลที่มาสวมเบิกยาวัตถุออกฤทธิ์กับคลินิก ล่าสุดได้ทำการตรวจสอบภายใน 2 เดือนย้อนหลังพบว่า มีรายชื่อผู้เสียชีวิต 370 คน หลังจากนี้ จะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดก่อน ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุข และ อย. จะเป็นผู้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ดร.ธนกฤติ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับหมอแอร์นั้น ขณะนี้ได้ประสานกับทางแพทย์ยาสภาในการพิจารณา เนื่องเป็นความผิดซึ่งหน้าสามารถเอาผิดได้เลย ต่างจากคดีของโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (ฟลูไนตราซีแพม) โดยไม่ได้รับอนุญาต มันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายในกลุ่มประชาชน, สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้สมคบกันแล้ว” ส่วน พ.ต.อ.หญิง (พญ.) อัญชุลี ถูกแจ้งเพิ่มอีก 1 ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 180 ตำแหน่งหน้าที่ราชการ พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าพนักงาน หรือกรรมการองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น” และมาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ มีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต นำตัวพร้อมของกลางส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานข่าวว่า จากการสอบปากคำ พ.ต.อ.หญิง (พญ.) อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ ว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เจ้าตัวมีอาการเครียด แต่ได้ให้ความร่วมมือในการให้ปากคำเป็นอย่างดี และให้ข้อมูลสอดคล้องกับแนวทางการสืบสวน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้จะนำตัวหมอแอร์ และผู้ต้องหาทั้งหมด ไปทำการส่งฟ้องต่อศาล และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ยังมีรายงานอีกว่า จากการตรวจสอบพบผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มีการกระทำในลักษณะของกระบวนการ และแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน โดยขบวนการนี้จะมีคีย์แมนที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหายา และจัดหานายทุนคนกลางที่จะนำยาไปขายต่อ ซึ่งมีคีย์แมนที่สำคัญ 3 คน ประกอบด้วย น.ส.อัญชุลี หรือหมอแอร์ เป็นผู้จัดหายา และนายดุริยลักษ์ เป็นผู้ควบคุมดูแลสต๊อกสินค้า และ น.ส.ณัฐพัชร์ เป็นคนกลางนำยาไปจัดจำหน่าย โดยหลังจากนี้ชุดสืบสวนจะทำการขยายผลว่าปลายทางของยาถูกนำไปจำหน่ายต่อที่ใด แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำไปจำหน่ายในโลกออนไลน์และออนไซต์

นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ย้อนหลังในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ของ น.ส.อัญชุลี หรือหมอแอร์ มีการนำเงินจำนวน 5 ล้านบาท ไปซื้ออัลปราโซแลม จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก่อนที่ต่อมาจะมีเงินเข้าบัญชีของ น.ส.อัญชุลี จำนวน 13 ล้านบาท โดย น.ส.ณัฐพัชร์ เป็นผู้โอนให้ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเงินที่ได้จากกำไรการขายยาที่โอนเข้ามา

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ บช.ปส. อยู่ระหว่างการรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป.