สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ว่ากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐออกแถลงการณ์ เมื่อวันอังคาร ว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นชอบร่วมกัน ในการพบหารือผ่านระบบทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ คือการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด ในการออกวีซ่าผู้สื่อข่าวให้แก่สื่อมวลชนของทั้งสองประเทศ


ในส่วนของ “ข้อตกลงประนีประนอม” จากประเด็นดังกล่าว รัฐบาลวอชิงตันจะออกวีซ่าทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี ที่สามารถเข้าออกหลายครั้ง ให้แก่ผู้สื่อข่าวจากจีน โดยสหรัฐจะเป็นฝ่ายดำเนินการก่อน เมื่อใดก็ตามที่มาตรการมีผลบังคับใช้ รัฐบาลปักกิ่งจะดำเนินการตาม ปัจจุบัน วีซ่าสำหรับผู้สื่อข่าวของสหรัฐในจีน มีอายุการใช้งานเพียง 90 วันเท่านั้น


ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาที่ประจำการอยู่ในประเทศ ผู้สื่อข่าวสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ รวมถึงการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามด้วย แต่เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศที่ประจำการ ผู้สื่อข่าวต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จีนแทบไม่เคยอนุญาตให้กับผู้สื่อข่าวต่างชาติมาก่อน


ทั้งนี้ จีนเนรเทศผู้สื่อข่าวในสังกัดของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเนรเทศ “ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันทั้งหมด” ทั้งในจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ที่สังกัด “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” “เดอะ วอชิงตัน โพสต์” และ “เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” เมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว


ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันขึ้นบัญชีควบคุมสื่อมวลชน 9 แห่งของจีน “ให้อยู่ในระดับเดียวกัน” กับสำนักงานการทูตต่างประเทศ หมายความว่าต้องขึ้นทะเบียนข้อมูลพื้นฐานของพนักงานทุกคน รวมถึงผู้ถือสัญชาติสหรัฐ และสถานที่ตั้งของสำนักงานในอเมริกา ตลอดจนทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดในสหรัฐ


สำหรับสื่อของจีนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีควบคุมของสหรัฐ ณ เวลานี้ ได้แก่ “สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ( ซีซีทีวี )” “ไชนา นิวส์ เซอร์วิส” “พีเพิลส์ เดลี” “โกลบอล ไทม์ส” “สำนักข่าวซินหัว” “ไชนา เดลี” “ไชนา เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล” “ไชนา โกลบอล เทเลวิชัน เน็ตเวิร์ก ( ซีจีทีเอ็น )” ซึ่งเป็นภาคภาษาอังกฤษของซีซีทีวี และ “ไห่ ถัน เดเวลอปเมนต์ ยูเอสเอ” ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES