วันนี้ (17 พ.ย.) รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียกำลังจะเสนอร่างกฎหมายปกป้องมรดกของชนพื้นเมืองในระหว่างการพัฒนาพื้นที่ นับเป็นเวลา 18 เดือนหลังจากการทำลายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมโดยบริษัทเหมืองแร่ ริโอ ทินโต ซึ่งสร้างความโกรธเคืองแก่ชาวพื้นเมืองจำนวนมาก

สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวในแถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาแก้ไขมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว จะมุ่งเน้นที่การบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มชาวอะบอริจิน และกระบวนเพื่อบรรลุความยินยอมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยจะต้องเป็นความยินยอมอย่างสมบูรณ์และมีการแจ้งข้อมูลล่วงหน้า

แต่กลุ่มชาวอะบอริจินประท้วงร่างกฎหมาย โดยกล่าวว่าไม่ได้มีการปรึกษาพวกเขาอย่างรอบด้าน และตัวกฎหมายยังคงให้สิทธิการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการคุ้มครองมรดกของพวกเขาแก่รัฐบาล

“มันเป็นวันทำลายล้างมรดกของชาวอะบอริจิน” ไทโรน การ์สโตน ประธานผู้บริหารของบริษัทคิมเบอร์ลีย์ แลนด์ เคาน์ซิล กล่าว

“โดยหลักการแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน และยังคงทำตามแบบแผนโครงสร้างการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวอะบอริจิน”

บริษัทคิมเบอร์ลีย์แลนด์เป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ออกแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้ที่เรียกร้องให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับผลกระทบต่อวัฒนธรรมและมรดกของชาวอะบอริจินเป็นไปโดย “อ้างอิงจากชาวอะบอริจิน ไม่ใช่จากอุตสาหกรรมหรือรัฐบาล”

กฎหมายคุ้มครองมรดกท้องถิ่นของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียได้รับความสนใจตั้งแต่บริษัทกิจการเหมืองแร่ริโอ ทินโต ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ได้ทำลายถ้ำหินที่ช่องเขาจูคัน จอร์จ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึง 46,000 ปี เพื่อทำเหมืองแร่เหล็ก

ถ้ำหินดังกล่าวเป็นที่เก็บเข็มขัดที่ถักด้วยเส้นผมอายุ 4,000 ปี ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับเจ้าของดั้งเดิมของพื้นที่ ตลอดจนหลักฐานที่แสดงว่าที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นที่พักอาศัยมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง

ท่ามกลางความไม่พอใจของสาธารณชน ผู้บริหารระดับสูงสามคนรวมถึง ฌอง-เซบาสเตียน ฌาค ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในขณะนั้น ได้ลาออกจากบริษัท และรัฐสภาได้เปิดการไต่สวนระดับชาติที่พบว่าต้องมีการยกเครื่องกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับกระบวนการขอคำยินยอมจากคนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เครดิตภาพ : Reuters