จากกรณี เกิดเหตุผนังก่อสร้างบนตัวอาคาร สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชัยภูมิ บริเวณชั้น 3 ได้พังลงมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยช่วงเกิดเหตุนั้น มีพายุฝนตกกระหน่ำทำให้ผนังอิฐมวลเบาที่ก่อด้วยปูนยังไม่แห้งและเซตตัวดี พังตกลงมาจากดาดฟ้าชั้น 3 ของตัวอาคาร ได้รับความเสียหาย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ผวาอาคารก่อสร้างตม.ชัยภูมิ ผนังชั้น 3 พังถล่มทั้งแถบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ห้องประชุม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ชัยภูมิ ถ.หฤทัย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พ.ต.ท.อุกฤษฎ์ ฤทธิรงค์ สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชัยภูมิ ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนฯว่า ตนได้รับรายงานจาก นายอนุ จึ่งสกุล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร ซึ่งระบุตามรายงานหนังสือเลขที่ 07/2564 ลงวันที่ 7 ก.ค.64 ไว้ว่า

เนื่องด้วยผู้ควบคุมงานได้ตรวจสอบแบบก่อสร้างส่วนผนังก่ออิฐมวลเบา บริเวณส่วนผนังชายคาชั้นหลังคา ปรากฏว่าตามแบบแปลนที่กำหนดเป็นผนังก่ออิฐมวลเบาความสูง 2.20 เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบรูปแบบการก่อสร้าง ทำให้ทราบว่าตัวผนังไม่มีโครงสร้างที่จะสามารถยึดผนังให้แข็งแรงได้ หากเกิดพายุฝนลมแรงมาปะทะกับผนังดังกล่าว อาจเกิดอันตรายหรือเกิดการพังทลายของผนังได้ และเพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้ควบคุมงานเห็นควรแจ้งผู้รับเหมาให้หยุดงานเฉพาะในส่วนก่อสร้างผนังชั้นหลังคาไว้ก่อน จนกว่าจะได้รูปแบบการก่อสร้างใหม่ตามหลักวิชาการ หรือให้มีการแก้ไขแบบแปลนให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมก่อน จึงจะให้มีการก่อสร้างในส่วนงานดังกล่าวได้ต่อ ด้าน พ.ต.ท.อุกฤษฎ์ ฤทธิรงค์ สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชัยภูมิ จึงทำหนังสือเลขที่ 0029.53(15)/1417 ลงวันที่ 7 ก.ค.64 แจ้งผู้รับเหมาให้หยุดการก่อสร้างในส่วนงานดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะได้รูปแบบการก่อสร้างใหม่ตามหลักวิศวกรรม หรือให้มีการแก้ไขแบบแปลนให้ถูกต้องก่อน จึงจะอนุญาตให้ผู้รับเหมาดำเนินการตามแบบที่ถูกต้องต่อไป

แต่เนื่องจากเป็นเหตุที่สุดวิสัยในวันดังกล่าว เกิดพายุฝน ลมพัดกระหน่ำอย่างหนัก แรงลมและน้ำฝนได้ชะล้างทำให้ปูนที่ก่อใหม่และยังไม่เซตตัวดี สุดท้ายผนังจึงพังลงมา ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้กระทบกับโครงสร้างของตัวอาคารที่ก่อสร้างแต่อย่างใด อีกทั้งช่วงเกิดเหตุเป็นเวลาเลิกงาน ไม่มีผู้ใดอยู่ในพื้นที่ส่วนก่อสร้าง จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด นอกจากนั้นทางคณะกรรมการฯ ยังให้ผู้รับเหมาได้ทำการรื้อผนังส่วนที่เหลือออกจากตัวอาคารเพื่อไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก

ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงความเสียหายของผนัง ที่ถูกแรงพายุฝน ลมพัดกระหน่ำพังลงมาเท่านั้นไม่ใช่เกิดจากการทรุดตัวของดินที่ถมตัวอาคาร เพราะฐานรากของตัวอาคารได้มีการตีเสาเข็มเททับด้วยคอนกรีตอัดแรง ตรงตามแบบมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมโยธา ซึ่งขณะนี้จะได้เร่งให้วิศวกรโยธาฯ ปรับแบบให้แล้วเสร็จ และจึงจะดำเนินการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาต่อไป.