น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ตามที่มีเพจเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า Www Sso go th ตรวจสอบสถานะสิทธิโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งให้ประชาชนกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อตรวจสอบสิทธินั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานประกันสังคมพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยทางสำนักงานประกันสังคม ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ที่ให้กลุ่มตกหล่นยื่นแบบคำขอทบทวนสิทธิโครงการเยียวยาฯ ได้สิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 64 ที่ผ่านมาว่า ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเริ่มทยอยโอนเงินเยียวยา ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 กลุ่มตกหล่น โดยได้เริ่มโอนเงินไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะโอนทุกวันพฤหัสบดี และผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนทุกวันศุกร์ ถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 นี้ และสำนักงานประกันสังคมขอย้ำกับผู้ประกันตนที่เข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิว่า เงินเยียวยาจะโอนผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น

สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Www Sso go th ตรวจสอบสถานะสิทธิโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 40” เป็นเพจปลอม ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคมแต่อย่างใด จึงขอเตือนไปยังผู้ประกันตนว่า ขณะนี้พบพวกมิจฉาชีพได้จัดทำเพจ facebook ปลอม แอบอ้างชื่อสำนักงานประกันสังคม หลอกขอ ข้อมูลส่วนตัวผู้ประกันตน พร้อมให้โอนเงิน ค่าดำเนินการแล้วจะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายแก่ผู้ที่หลงเชื่อ เสียทั้งทรัพย์สิน และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ประกันตน โปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด

ทั้งนี้หากผู้ประกันตนพบเห็นเพจปลอมหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่แอบอ้างชื่อสำนักงานประกันสังคม โปรดแจ้งมายังสำนักงานประกันสังคม หรือหากท่านเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการโอนเงินให้มิจฉาชีพดังกล่าว สามารถแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87