จากแรงบันดาลใจ ที่อยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสรสชาติขนมอร่อย ๆ ที่แม่ทำให้ลูกกินเองจากรสมือแม่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิต คุณหญิง-เปมิกา ธนล้ำเลิศกุล ผันตัวเองเดินเข้าสู่ วิถีคนถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเนริคิริ (Nerikiri) ขนมญี่ปุ่นโบราณ และกลายเป็นเจ้าของร้าน โฮมุ (Homu) คาเฟ่ชื่อดัง เสิร์ฟขนมญี่ปุ่นโบราณ ในห้องแถวตึกเก่าอายุนับร้อยปี กลางซอยเจริญกรุง 44 กรุงเทพมหานคร และ Homurumu (โฮมุรุมุ) จังหวัดปราจีนบุรี

คุณหญิงพาย้อนกลับวันเก่า ๆ ก่อนชีวิตมาถึงจุดนี้ว่า เกิดจากการเป็นแม่บ้าน ต้องดูแลลูกสองคน ไม่อยากให้ลูกทานขนมพวกกรอบ ๆ จึงเริ่มลองทำขนมแปลก ๆ ให้ลูกทานเอง ตอนนั้นมีเทรนด์ขนมโมจิเข้ามา เริ่มทดลองทำแล้วทำสำเร็จ ประกอบกับลูก ๆ ชอบ เริ่มนำไปแจกให้เพื่อนบ้านได้ชิม ระหว่างนั้นได้รับคำแนะนำให้ทำขาย เริ่มลองทำขายด้วยการโพสต์ขายทางโซเชียลมีเดีย ขยับขยายทำเป็นแพ็กเกจห่อผ้าในแบบญี่ปุ่น ส่งตามแนวรถไฟฟ้าอโศกและจตุจักร กระทั่งมีคนเริ่มออร์เดอร์มากขึ้น ทำไม่ไหว จึงมาต่อเติมบริเวณข้างบ้านย่านประชาอุทิศ ทำเป็นร้านขนมโฮมุ พร้อมเปิดสอนการทำขนมเนริคิริ ขนมญี่ปุ่นโบราณ ที่บ้าน โดยไม่ได้มุ่งเน้นยอดขาย แต่เน้นการร่วมแลกเปลี่ยนมิตรภาพ ความรู้แก่กันและกัน

“ก่อนมาถึงจุดนี้ หญิงผ่านงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ ทำธุรกิจขายเครื่องดนตรี และทุกวันนี้ทำขนมญี่ปุ่นโบราณและเปิดสอน ซึ่งตอนทำขนมโมจิหยดน้ำ และ วาราบิ เรียนจากสูตรของคุณป้าที่เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ที่โยโกฮามา และไปเรียนเทคนิคการปั้นเนริคิริ ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากโฮมุที่ประชาอุทิศ ย้ายมาเจริญกรุง 44 เข้าปีที่ 3 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี แรก ๆ หญิงคิดแค่ว่า ทำขนมไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย ความสุขจากการทำงานหญิงไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มองว่า เวลาลูกค้ามีความสุข คนที่มาเรียนทำขนมกับเรา เขามีความสุข มีรอยยิ้ม เขาถามเรา เราตอบให้ความรู้เรื่องขนม มิตรภาพมันเกิดขึ้น มีคนถามว่า เราสอนเขาไปแบบนี้ ไม่กลัวเขาจะเปิดร้านขนมแข่งกับเราเหรอ หญิงไม่ได้มองเรื่องนั้นเลย เพราะหลัก ๆ หญิงอยากให้ขนมญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักพอ ๆ กับอาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ที่มาเรียนกับหญิง เราร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลากมุม เขาบอกว่า ขอมารับพลังบวก สร้างแรงบันดาลใจให้เขา หญิงฟังก็มีความสุขและอิ่มเอิบใจที่อยู่จุดนี้”

คุณหญิง ยังบอกถึงเสน่ห์ของขนมญี่ปุ่นโบราณ ว่า “สังเกตไหมคะว่า คนญี่ปุ่น เขาจะใส่ใจตัวขนมจะมีศิลปะข้างใน เรามีหน้าที่เสิร์ฟขนมให้ลูกค้ามองว่า ขนมชิ้นหนึ่งมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงเกิดเป็นขนมชิ้นนี้ การใส่ใจกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ หญิงนำไอเดียนี้มาและใส่ตัวตนตัวเองเข้าไป หญิงทำทุกอย่างจากใจ มันสวยงามหมด ไม่มีอะไรที่รู้สึกท้อ ที่ผ่านมาหญิงกลัวแค่ กระแสเวลาลูกค้ามาที่ร้านเยอะ ๆ แล้วเสิร์ฟไม่ทัน เพราะเราเป็นโฮมเมด ถ้ากระแสตีมาในแง่มุมไม่ดี เช่น เสิร์ฟช้า บริการไม่ทั่วถึง ทำให้ท้อได้บ้าง แต่ในการมองเรื่องกระแสตีกลับ เรานำมาปรับปรุงระบบการจัดการของเราให้ดีขึ้น เพราะเรานำทุกอย่างมาสร้างพลังใจให้ตัวเราเองและทีมเด็ก ๆ ในร้าน ตอนนี้ ขยับขยายมาทำ Homurumu (โฮมุรุมุ) จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโฮมรูม ห้องเล็ก ๆ ของบ้าน เป็นร้านเล็ก ๆ เป็นที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำขนมญี่ปุ่นโบราณ ตอนนี้ทำได้ 85 เปอร์เซ็นต์”

คุณหญิง ยังบอกผลลัพธ์ของการทำงาน บนพื้นฐานของการทำด้วยใจด้วยว่า “การทำด้วยใจหลัก ๆ ของหญิงคือ การทำเพื่อลูก หญิงทำขนมขึ้นมา เพื่อให้ลูกทาน หลัก ๆ คือ แม่ทำให้ลูก มีความสุขที่ได้ทำ แง่มุมการทำงาน ขึ้นชื่อว่า การทำงาน มันเหนื่อยทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีจุดประสงค์ในการทำงานของเรา คือ เราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเราเหนื่อย เราเหนื่อยเพื่อใคร แล้วเราจะหายเหนื่อย ถ้าเราเดินหน้าแล้ว จะหยุดกลางทางไม่ได้ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ หญิงชอบทำอะไรใหม่ ๆ ชอบค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ทำตลอด ชอบทำสิ่งที่ท้าทายในชีวิต ไม่หยุดนิ่งกับที่ มีคนชอบคิดว่า การทำงานบางอย่าง หรือการทำงานแบบนั้น แบบนี้ มีข้อจำกัดที่ผู้หญิงทำไม่ได้หรอก แต่หญิงเชื่อว่า ผู้หญิงเราทำได้ แม้จะตะกุกตะกักบ้าง แต่เราสร้างได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้จำกัดเพศ พอสำเร็จ เรามีความภูมิใจที่ทำได้ ขอให้เราได้ลงมือทำ ถึงจะเรียนรู้ว่าเราทำได้ หรือไม่ได้ ดีกว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย”.