ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ส่งผลให้ทุกองคาพยพต้องเดินหน้าตามกติกาใหม่

เปลี่ยนไปใช้ระบบ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยมี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลคือระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาปรับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้ช่อง รัฐธรรมนูญมาตรา 102 ประกาศ ยุบสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย

เนื่องจากกฎหมายแม่ปรับแก้ระบบเลือกตั้งไปแล้ว แต่กฎหมายลูกในส่วนรายละเอียดยังปรับแก้ไม่เสร็จ!

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 103 ต้องเดินหน้าจัดเลือกตั้งภายในกรอบ 45-60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับ

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เคยออกมายอมรับหากประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนประกาศใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย รัฐบาลเตรียมทางออกไว้หลายทางแต่สุ่มเสี่ยงถูกคัดค้านจากฝ่ายการเมือง

“อย่าพูดเลย ได้แต่ภาวนาขออย่าให้มันเกิด” นายวิษณุ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อถามถึงทางออก หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง

สำหรับทางออกที่มือกฎหมายรัฐบาลพูดถึง แม้ไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่เมื่อพลิกดูรายละเอียดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้พอมองเห็นทางออกฉุกเฉินอย่างน้อย 3 ช่องทาง

(1) ช่องทางแรก ใช้มาตรา 104 ที่เขียนเปิดช่องให้อำนาจ กกต.ประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต.กำหนด แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง

(2) ช่องทางที่สอง ใช้มาตรา 172 รัฐบาลมีอำนาจออกพระราชกำหนดเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ กกต.ใช้บังคับ โดยอ้างเหตุผลเป็นเรื่องฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วน หลีกเลี่ยงไม่ได้

(3) ช่องทางที่สามอ้าง รัฐธรรมนูญมาตรา 5 เรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้เนื้อหา พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ในส่วนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ตามไปด้วย

จากนั้นโยงไปใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 6 ที่เปิดช่องให้ กกต. มีอำนาจ “วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จําเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้ว เป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”

ทำให้ กกต. มีอำนาจประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์กี่ยวกับการเลือกต้ังระบบใหม่ โดยอ้างอิงเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับของ กกต. ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น

ทั้งหมดข้างต้นคือ 3 ทางออกฉุกเฉิน หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ชิงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนรัฐสภาทำคลอด กฎหมายลูกเลือกตั้งแล้วเสร็จ!