รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ และการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เพื่อประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสอดคล้องและสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคบังคับของแรงงานภาคเอกชนในระบบ ตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ) รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2565 ประเทศไทยคาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่ยังมีรายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ กระทรวงการคลังจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยจัดให้มีการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างมีการออมเพื่อการเกษียณและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในการดำรงชีพ
เนื่องจาก พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการออมภาคสมัครใจ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านจากการออมภาคสมัครใจไปเป็นการออมภาคบังคับ จึงต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างความชัดเจน ลดภาระแก่นายจ้างจำนวน 19,300 รายที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้าง ซึ่งครอบคลุมลูกจ้างเป็นจำนวนมากกว่า 2.88 ล้านคน และลดความเสี่ยงในการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีเม็ดเงินลงทุนรวมถึง 1.3 ล้านล้านบาท รวมทั้งดำเนินการให้การเชื่อมโยงระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นระยะเวลา 6 ปี* รวมทั้งตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามระยะเวลาที่กำหนด จึงเห็นควรประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบันไปพร้อมกับการเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในคราวเดียวกัน เพื่อนำผลการประเมินดังกล่าวมาประกอบการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ก.ล.ต. จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเสนอแนวทางการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้รองรับร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนการออมภาคบังคับของแรงงานภาคเอกชนในระบบ และลดผลกระทบต่อนายจ้าง ผู้ประกอบธุรกิจและตลาดทุน ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนผ่านจากการออมภาคสมัครใจเป็นการออมภาคบังคับ