ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ดูยังไม่แน่ไม่นอนในปัจจุบัน แม้จะเริ่มเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหวังเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นความหวังของธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

แต่แล้วสถานการณ์อาจไม่ได้เป็นเหมือนดังหวัง เพราะล่าสุดพบว่าไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า Omicron (โอไมครอน) ที่กำลังแพร่ระบาดในบางประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังโชคดีที่ยังไม่พบผู้ป่วยไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้

คำถามคือ หลังจากนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทย จะเป็นอย่างไรต่อไปกับความไม่แน่นอนต่างๆ นานา โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ให้คำตอบไว้ในงานสัมมนา Thailand ECONOMIC OUTLOOK 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย ในรอบเสวนา มองเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางโควิด โดยสรุปใจความสำคัญมาได้ ดังนี้

หนุนมาตรการจ้างงาน สร้างรายได้

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะ เพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ได้บอกว่า ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเริ่มเห็นบรรยากาศดีขึ้น คนเริ่มกลับมาใช้จ่าย ในแง่ความรู้สึกมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จะขับเคลื่อนได้มากแค่ไหน ปัจจัยด้านการใช้จ่ายมีจำกัด การบริโภคจะกระเตื้องขึ้นจากหยุดใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา แต่การบริโภคก็มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ส่วนการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา ยิ่งมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ยังเป็นความไม่แน่นอน

ยอมรับว่า การฟื้นตัวอ่อนแอ จากประชาชนอ่อนแอเรื่องรายได้ ทำให้มองว่าในปี 65 นโยบายภาครัฐจะต้องทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้การฟื้นตัวมีการเข้มแข็งทั่วถึง ต้องอาศัยวิธีคิดนโยบายให้คนมีงานทำ มาตรการสร้างงาน มากกว่ามาตรการให้เงิน เพราะคนเหล่านี้ต้องการงานมากกว่า เมื่อมีงานทำ ก็จะมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย

ขณะที่เราต้องทำให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจกลับมาลงทุนจริงจัง เช่น การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติดูหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่อง ประสิทธิภาพภาครัฐ นวัตกรรม และยังดูบทบาทหน้าที่เกณฑ์สนับสนุนต่าง ๆ ทักษะแรงงาน การแข่งขันว่ามีความยุติธรรม มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะต่างชาติกลัวลงทุนแล้วจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการแข่งขัน ซึ่งทำให้อย่างไรให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจในประเทศไทยมากขึ้น

“อย่าไปรอ รีบเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เอาทรัพยากรผู้ประกอบการออกจากท่องเที่ยว ปรับโครงสร้างให้ไปทำอย่างอื่นแทน ขับเคลื่อนเปลี่ยนไปสิ่งใหม่เร็วขึ้น หากจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเท่าก่อนระดับโควิดอาจต้องใช้เวลาจนปี 66 ได้”

ปรับโครงสร้าง ลดพึ่งพิงต่างประเทศ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ต้องจับตาดูว่า โอไมครอน จะเข้ามาเป็น Game Changer หรือไม่ จะทำให้บางประเทศชะลอเปิดประเทศหรือไม่ เศรษฐกิจโลกสะดุดหรือไม่ ถ้าต่างชาติปิดประเทศ จะกระทบการท่องเที่ยวไทยแน่นอน เห็นได้จากข้อมูล โอไมครอน อดเป็นห่วงไม่ได้ ว่าจะรุนแรงมากว่าเดลต้าหรือไม่ ถ้ารุนแรงติดเชื้อมากขึ้น วัคซีนไม่ได้ผล คนป่วยมากขึ้น ผู้บริหารประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มล็อกดาวน์ที่เข้มข้น

เศรษฐกิจไทยโตช้ามาในอดีต เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาสังคมสูงวัย ถ้านำแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทยที่กำลังขาดแคลน อาจเกิดปัญหาระบาดและอื่นๆอีกได้ ที่ผ่านมาไทยพึ่งพิงท่องเที่ยวมาตลอด ซึ่ง 7-8 ปีที่ผ่านมาขยายตัวดีมาก แต่โควิดเข้ามาจึงกระทบ เช่นเดียวกับการส่งออกที่แม้จะฟื้นตัวได้ แต่ก็เป็นการพึ่งพิงจากต่างประเทศ โดยเราต้องกลับมาย้อนถามตัวเราเองว่า ไทยต้องพัฒนาภาคเกษตร ไม่ใช่เอาเงินไปอุดหนุนเป็นแสนๆล้านบาททุกปี ปุ๋ยดินการเกษตรออร์แกนิก ดันไทยผลักดันศูนย์กลางอาหารสุขภาพของโลก

จากข้อมูลโอไมครอนเกิดขึ้น อาจมาจากโลกยังฉีดวัคซีนน้อย เป็นพื้นที่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ไปได้อีก ถ้าไม่แก้ไขปัญหาฉีดวัคซีนให้ทั่วโลก อาจเกิดมากกว่าโอไมครอน กระทบเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าตอนนี้ ผู้ดำเนินนโยบายกลัวเรื่องโอไมครอน มากกว่าคิดว่าจะปรับเรื่องอื่นๆ อย่างไร เช่น ถ้าโอไมครอนกระจายไปหลายประเทศ รวมถึงไทย จะกลับมาห้ามจัดกิจกรรมปีใหม่ หรือกินดื่ม กังวลว่าโอไมครอนจะทำให้กระทบแนวคิดที่จะมองในระยะยาว

“หลายคนบนโลกอาจระวังตัว ไม่ได้เดินทางเยอะเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องปรับทรัพยากรออกจากภาคการท่องเที่ยว ภาครัฐต้องมีบทบาท ต้องคิดอะไรใหม่ๆ แต่น่าเป็นห่วงมากคือทุกๆ ปี เงินลงทุนภาครัฐที่วางแผนเอาไว้ ไม่เคยทำได้ วางแผนลงทุน 6-7 แสนล้านบาท แต่ทำได้ 3-4 แสนล้าน หรือ 2-3% ของจีดีพีเท่านั้น รัฐบาลต้องลงทุนให้มากขึ้นอย่างน้อย 4% ของจีดีพี และรัฐบาลต้องลงทุนให้มีคุณภาพ เงินไม่รั่วไหลไปไหน และต้องปรับการลงทุนใหม่”

หยุดกินบุญเก่า เร่งสร้างบุญใหม่

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยก่อนหน้าจะมีโอไมครอนระบาด คาดจะเป็นบวก 3.9% ในปี 65 ที่แบงก์ชาติประเมิน ถ้าหากนักท่องเที่ยวเกิน 10 กว่าล้านคน จะให้จีดีพีถึง 5% ไม่ใช่เรื่องยาก แต่วันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากที่คาด 6 ล้านคนในปี 65 จะถึงหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ แบงก์ชาติ จะมาทบทวนเศรษฐกิจใหม่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ จะนำโอไมครอนเข้ามาประเมินด้วย แต่ยืนยันระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง เป็นตัวกลางรับมือความไม่แน่นอนได้

ในอดีตประเทศไทยพึ่งพิง 20% เป็นภาคการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวหายก็ลำบาก กว่าจะใช้เวลาฟื้นหลายปี เป็นจุดอ่อน ประเทศไทยไม่ได้สนใจว่าจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปด้วยอะไร ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้บอกว่า เศรษฐกิจไทยอาศัยกินบุญเก่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากก็หลงดีใจ แต่เมื่อมาดูเศรษฐกิจไทยลงทุนต่ำมาก ลงทุนจากต่างประเทศหายไปหมด เพราะไปเวียดนามเยอะ ซึ่งการลงทุนสำคัญเพราะจะสร้างการเติบโตในอนาคต

ในเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องของการสร้างบุญใหม่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้บอกว่าต้องหาทาง growth story บ้างก็ว่า growth engine โดยภาครัฐควรเอื้อต่อการลงทุนและขจัดอุปสรรคกฎเกณฑ์ต่างๆ สนับสนุนลงทุนใน EEC/new S-Curve และโตแบบเราไม่ทิ้งกัน

“ไม่ว่าจะมีโอไมครอนหรือไม่มีโอไมครอน ไม่ควรกลับมาล็อกดาวน์ แต่ถ้ามีควรในวงจำกัด ภาวะการเงินต้องไม่สะดุด ดูแลให้ดอกเบี้ยระดับต่ำน่าจะตลอดทั้งปี 65 เรื่องของมาตรการทางการเงินเติมเงินสินเชื่อใหม่ เร่งปรับโรงสร้างหนี้เป็นสิ่งสำคัญ ปีหน้าต้องทำให้มากขึ้นเร็วขึ้น ส่วนมาตรการการคลัง รัฐบาลขยายเพดานหนี้ ควรกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่แจกเงินเยียวยา ให้เน้นกระตุ้นใช้จ่ายฟื้นฟู ปรับโรงสร้างเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่ใช้จ่าย ยังมีเรื่องภาษีก็ต้องส่งเสริมเช่นเดียวกัน”

การฟื้นตัวที่แตกต่าง ขาดเจ้าภาพปฏิรูป

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเป็นก่อนที่โอไมครอนจะมา คาดปี 65 จีดีพีไทยจะขยายตัว 3.7% แต่พอมีโอไมครอนได้คุยทีมงานจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นใรเรื่องการฟื้นตัว เพราะจะมาจากการส่งออก และเมื่อผูกกับเศรษฐกิจโลก ถ้าโอไมครอนกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอ การค้าขายกระทบ ส่งผลส่งออกไทยแน่นอน

จุดอ่อน เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแตกต่างกันมากในแต่ละภาคการผลิต เมื่อเริ่มเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจจะมีบางธุรกิจเริ่มกลับมาได้บ้าง แต่กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอาหาร ร้านอาหาร แม้จะกลับมาได้แต่ยังติดลบ 30-40% เป็นทั้งโลกแต่ไทยแตกต่างกันมานาน กลุ่มที่ถูกกระทบมากเป็นผู้ใช้งานแรงงานมาก กระทบรายได้ก็ฟื้นช้า อาจต่ำกว่าปีก่อนโควิด 3% ดังนั้น คนที่อยู่ในกิจกรรมเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวแตกต่างกันด้วย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติ ทำอย่างไรให้ท้ายที่สุดการลงทุนจากต่างชาติถูกโอนถ่ายองค์ความรู้ไปสู่ในประเทศ และให้เติบโตยั่งยืน

“โลกหลังโควิดไม่ได้เหมือนเดิม มีผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์ และอะไรบางอย่างใช้น้อยลง ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เมื่อเศรษฐกิจตัวฟื้นแล้ว แต่กลับขายของไม่ได้ นั่นเท่ากับต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ต้องปรับตัว และภาครัฐต้องเอื้อให้คนได้ปรับตัวด้วย เช่น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งพูดกันมานานแต่ยังขาดเจ้าภาพที่จะทำมา เพราะทุกอย่างโยงใยกันไปหมด ต้องเป็นความร่วมมือแบบองค์รวม”