สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่าหลังการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 9 สมัยที่ 2 ของลาวปิดฉากลงในวันที่ 17 พ.ย. วาลีและสมาชิกรัฐสภาท่านอื่น ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์นั่งรถไฟหัวกระสุนล้านช้างครั้งแรก จากนครหลวงเวียงจันทน์สู่เมืองวังเวียง เมืองท่องเที่ยวทางตอนเหนือของประเทศ “ฉันโชคดีที่ได้ทดลองโดยสารรถไฟลาว-จีน หลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์จริง ๆ” เธอกล่าว


วาลีชื่นชมการออกแบบสถานีว่า โครงสร้างภายนอกโดยเฉพาะหลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว ส่วนการตกแต่งได้ผสานวัฒนธรรมลาวและจีน ซึ่งสอดคล้องกับจุดเด่นของโครงการอย่างลงตัวและงดงาม

New China TV


วาลีกล่าวว่า นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต้องการสัมผัสประสบการณ์นั่งรถไฟลาว-จีน โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจำนวนมากล้วนทำงานไปพร้อม ๆ กับการเดินทาง ดังนั้น ผู้ประกอบการในวงการท่องเที่ยวของลาวจึงต้องก้าวทันโลก ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการใหม่ของนักท่องเที่ยว คว้าโอกาสทางธุรกิจที่มาจากการรถไฟ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำมากขึ้น


นอกจากนี้ เกษตรกรรมเชิงนิเวศถือเป็นอีกหนึ่งโอกาส เพราะนักลงทุนจากจีนและไทยจำนวนมากต้องการปลูกสินค้าเกษตรในลาวเพื่อส่งออก เพราะมีตลาดขนาดใหญ่ พร้อมเสริมว่าควรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้น ปกป้องสิ่งแวดล้อม และให้นักท่องเที่ยวได้รับประทานอาหารที่สะอาด และเพลิดเพลินกับอากาศบริสุทธิ์


“อีกโอกาสหนึ่งคืออุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่มีวัตถุดิบในลาว แต่สามารถแปรรูปและประกอบที่ลาวได้ รวมถึงค่อยส่งออกผ่านทางรถไฟได้” วาลีกล่าว พร้อมเสริมว่านักลงทุนที่ต้องการค้าขายกับจีน ส่งออกสินค้าไปยังตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งส่งออกสินค้าผ่านจีนไปยุโรป ล้วนสามารถมาตั้งโรงงานที่ลาวได้ โดยลาวกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ให้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น


วาลีเชื่อว่า ทางรถไฟลาว-จีน เน้นย้ำความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของลาว รวมถึงโอกาสในการพัฒนาของอุตสาหกรรมการเงินและการดูแลสุขภาพในประเทศ ลาวเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ จึงมอบโอกาสดีสำหรับการลงทุนในลาว


ทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นโครงการเชื่อมต่อเชิงยุทธศาสตร์ ระหว่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน และยุทธศาสตร์ของลาวที่มุ่งเปลี่ยนตนเองจากประเทศไร้ทางออกสู่ทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก


โครงการทางรถไฟส่วนที่อยู่ในลาว ซึ่งตัดจากด่านชายแดนบ่อเต็นทางตอนเหนือมาสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ระยะความยาวกว่า 400 กิโลเมตร ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2016 นั้น จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานภายในเดือนธันวาคม 2564


ทั้งนี้ รถไฟจีน-ลาว ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานการจัดการและมาตรฐานทางเทคนิคของจีน มีความเร็วออกแบบ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเป็นรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า.

ข้อมูลและภาพ : XINHUA