เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟไทย (สร.รฟท.) จัดงานเสวนาและรับฟังความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “การหยุดให้บริการเดินขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร เป็นการพัฒนา หรือผลักภาระให้ประชาชน” โดยนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การใช้ที่ดินสถานีหัวลำโพงเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ใช่ภารกิจ และวัตถุประสงค์ของรฟท. และรัฐบาลไม่เคยแถลงนโยบายนี้ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการโดยไม่ผ่านกระบวนการของสภาได้ด้วยหรือ และขอตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ของ รฟท. มีอยู่ทั่วประเทศ เหตุใดต้องเจาะจงเป็นสถานีหัวลำโพง คำถามนี้ต้องชี้แจง

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การหยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง ทำให้ประชาชนเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น 7 เท่า จากเดิมนั่งจากรังสิตถึงหัวลำโพง จ่ายแค่ 6 บาท แต่หากหยุดรถที่บางซื่อ และต้องมาหัวลำโพงต้องจ่ายเพิ่มค่ารถไฟฟ้า MRT 42 บาท อีกทั้งทราบว่าจะมีบางขบวนหยุดเดินรถที่สถานีดอนเมือง จะยิ่งทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 200 บาท ดังนั้นจึงอยากให้เปิดใช้บริการสถานีหัวลำโพงควบคู่กับสถานีกลางบางซื่อ ขอย้ำว่าต้องมีรถไฟเข้าออกหัวลำโพง และต้องไม่ใช่แค่รถไฟชานเมือง 22 ขบวนเท่านั้น ต้องมีรถไฟทางไกลเข้ามาหัวลำโพงด้วย 

นายสามารถ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมไม่ควรต้องจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน วันที่ 14 ธ.ค.นี้ เพราะเสียเวลา เสียเงินเสียทอง ไม่ได้ถามคนใช้บริการที่แท้จริง ขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับระบบรางอย่างมาก ซึ่งหากมีการปิดหัวลำโพงไม่ให้เข้าออก จะเป็นการย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของนายกฯ ที่สร้างผลงานระบบรางมาอย่างดีเยี่ยม จึงขอเรียกร้องนายกฯ สั่งการให้กระทรวงคมนาคมยุติแนวคิดที่จะปิดหัวลำโพงโดยด่วน

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า ขอท้าให้เปิดลงประชามติเลยว่า ประชาชนต้องการให้ปิดสถานีหัวลำโพง ไม่ต้องมีรถเข้า-ออกหัวลำโพงหรือไม่ ประชาชนต้องอย่าปล่อยให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ทำอะไรก็ได้ เพราะไม่ใช่สมบัติของ รมว.คมนาคม อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาทำลายประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งอยากให้รอการเลือกตั้งใหม่ และให้นายศักดิ์สยาม นำเรื่องนี้ไปหาเสียงว่าจะปิดหัวลำโพง จะได้รู้กันว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ควรหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ค่ารถไฟฟ้าถูกที่สุด ให้ทุกคนทุกชนชั้นใช้บริการได้

น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า ไม่ควรเอาค่าก่อสร้างระบบรางมาคำนวณเป็นค่าโดยสาร ควรหารายได้จากพื้นที่ในสถานีมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะการก่อสร้างถนนไม่เคยนำมาคำนวณเป็นค่าแท็กซี่ หรือรถทัวร์เลย อย่างไรก็ตามต้องต่อต้านไม่ให้มีการหยุดเดินรถไฟมาหัวลำโพง ต้องมีรถไฟจากทุกภูมิภาคมาที่นี้ด้วย เราจะสู้จนถึงที่สุดไม่ให้ปิดการเดินรถมาถึงหัวลำโพง ต้องไม่ให้เอาสถานีหัวลำโพงที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามกว่า 100 ปี มาเป็นประตูเข้าห้างสรรพสินค้าเด็ดขาด

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษา สร.รฟท. กล่าวว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมยุตินโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ควรให้มีบริการขบวนรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟหัวลำโพงโดยให้มีขบวนรถไฟชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคม (PSO) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพง 2.การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. ควรขยายทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือขุดอุโมงค์ที่ถนนตัดผ่านเสมอระดับทางที่ยมราช และเร่งรัดก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายให้เต็มรูปแบบ เพื่อควบคุมราคาค่าบริการ และเป็นรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน

และ 3. ควรพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จากที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพ และความพร้อมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อรัญประเทศ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทั้งนี้ สร.รฟท.ไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนาควรนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถไฟ ต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน และไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตได้อย่างไร