เมตาเวิร์ส (metaverse) คำๆนี้กลายเป็นที่สนใจของคนทั่งโลกขึ้นมาทันที เมื่อเจ้าพ่อ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” เครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ออกมาประกาศจะให้ความสำคัญ กับเมตาเวิร์ส หลังได้ประกาศ รีแบรนด์ เฟซบุ๊ก ในชื่อบริษัทใหม่เป็น เมตา( Meta)

ราชบัณฑิตยสภา ของไทย ได้มีการบัญญัติคำ ‘Metaverse’ ในชื่อภาษาไทยว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ อย่างไรก็ตามในต่างประเทศก็ได้มีการตีความ “เมตาเวิร์ส” ที่หลากหลายว่าอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบเกม หรือแพลตฟอร์ม แต่หากจะอธิบาย ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อม ของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยเทคโนโลยี เออาร์ (Augmented reality : AR ) ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง และความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน และ วีอาร์(Virtual reality : VR ) คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริง แบบ 360 องศา โดยอาศัยอุปกรณ์ต่าง เช่น สมาร์ทโฟน แว่นวีอาร์ และเครื่องเล่นเกมคอนโซล ฯลฯ

ยักษ์ไทย-เทศ กระโจนใส่

ทั้งนี้จะช่วยให้สามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงหรือโลกดิจิทัลแก่ผู้อื่น ที่สามารถโต้ตอบ แบ่งปันและใช้พื้นที่เสมือนจริงร่วมกันได้ ผ่าน “อวาตาร์” ที่เป็นตัวแทนของเราในโลกเสมือนจริง โดยในโลกเสมือนจริงเราสามารถครอบครองที่ดินเสมือนจริง สินทรัพย์ดิจิทัล และเงินสกุลดิจิทัลเพื่อใช้ ในการซื้อขายในโลกเสมือนจริงได้

จากกระแส “เมตาเวิร์ส” ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทเอกชน ในต่างประเทศได้ประกาศ กระโจนเข้าสู่เทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอีกหนึ่งยักษ์ไอทีอย่าง “ไมโครซอฟท์” บริษัทบันเทิง อย่าง “ดิสนีย์ และ บริษัทผลิตเครื่องกีฬาชื่อดัง อย่าง “ไนกี้” ที่ กำลังเอาจริงเอาจังกับการสร้างโลกเมตาเวิร์ส จับมือโรบล็อกซ์ สร้างไนกี้แลนด์ เป็นต้น

สำหรับมุมมองในเรื่องนี้ต่อเมืองไทย “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ที่เป็นองค์กรที่ผลักดันในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล มองว่า เรื่องเมตาเวิร์ส เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ไทยเรียกว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ ซึ่งก็เหมือนโลกใบที่สอง เป็นหนึ่งเทคโนโลยี ที่จะมีการใช้และขยายผลมากขึ้น แต่คาดว่าจะใช้เวลาอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยธุรกิจที่เข้าไป อยู่ในเมตาเวิร์ส เช่น แอนิเมชั่น ก็จะมีศักยภาพ คนจะได้สัมผัสกับสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของโลกเสมือนได้ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวในโลกเสมือน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกม ซึ่งจะทำให้คนเข้าไปเล่นได้ เสมือนจริงมากขึ้น คล้ายๆโลกจริงๆ

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

แนะตระหนัก-รู้-เข้าใจ

“ประเทศไทยคงต้องเตรียมตัวดูว่าอะไรที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรมที่เราจะสามารถเข้าไปช่วงชิงการ แข่งขันในโลกเสมือนได้บ้าง ซึ่งมองว่าเป็นโอกาส หากในอนาคตมีการท่องเที่ยวในนั้น มีการค้าขายกันในนั้นในบางเรื่อง ที่สามารถอยู่ในโลกเสมือนจริงก็มีความเป็นไปได้ สิ่งที่ตามมาคือ เรื่อง สกุลเงินดิจิทัล อาจจะมีการจับจ่ายใช้สอย เพราะฉนั้นธุรกิจไทยก็อาจเกิดช่องทางและโอกาสใหม่ในเรื่อง เมตาเวิร์ส ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในสายของเทคโนโลยี อาจจะเป็นคนอยู่ในสาย Non tech ด้วย”

ในส่วนของประชาชนจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างนั้น ทาง ผอ.ดีป้า แนะนำว่า หากเมตาเวิร์สมา และวันหนึ่งที่ต้องไปอยู่ในนั้น ต้องเข้าใจว่า มันเป็นเสมือนโลกอีกใบหนึ่ง และสร้างขึ้นมาด้วยมือมนุษย์ การที่ไปทำการค้าในนั้น หรือท่องเที่ยวในนั้น มันไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งหนึ่งคือต้องรู้และเข้าใจ และมีความตระหนัก ในการใช้งานด้วย

ส่วนอีกหนึ่งผู้บริหารที่อยู่ในแวดวงโทรคมนาคมอย่าง “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ ของเอไอเอส บอกว่า สิ่งที่เอไอเอส ได้ทำในวันนี้ คือเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเรื่องเมตาเวิร์สให้แข็งแรง ทั้งเรื่องเน็ตเวิร์กให้ครอบคลุม ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์ส บิตคอยน์ ทางเอไอเอสมีทีมที่กำลังศึกษาในเรื่องนี้อยู่ แต่ยังไม่ได้เข้าไป ซึ่งในเรื่องคริปโตเคอเรนซี ก็มีคนถามว่าเอไอเอส จะทำ คอยน์ หรือไม่ทำ ซึ่งต้องดูว่าจะมี ประโยชน์หรือเปล่า หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยทำให้คนรวยขึ้น หรือมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจกันมาก ซึ่งเอไอเอสก็มอนิเตอร์อยู่ แต่คงยังไม่เข้าไปผลักดันให้เกิดเหรียญหรือคอยน์ต่างๆจำนวนมาก

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

เผย 5จี รับเมตาเวิร์สได้แน่

“ในเรื่องเครือข่ายที่จะรองรับเมตาเวิร์สในอนาคต ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ในเรื่อง 5 จี ที่ผ่านมามีนักลงทุนมาถามเรื่องการขยายและลงทุนเครือข่าย 5  จี ไปทำไมจำนวนมาก เพราะวันนี้ยังไม่จำเป็น ที่จะขยายให้ครอบคลุม 80-90% ให้ได้ แต่เราต้องเตรียมไว้ก็เพื่อในอนาคต หากเมตาเวิรส์เกิดขึ้นมาเราสามารถรองรับได้”

อย่างก็ไรก็ตามในส่วนของ นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอม พิวเตอร์ จำกัดผู้นำในตลาดคอมพิวเตอร์ของไทย มองว่า หลังจากเฟซบุ๊คออกมาผลักดันเรื่องเมตาเวิร์ส จะทำให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะมีแพลตฟอร์มที่เป็นเมตาเวิร์สอยู่แล้ว แต่เมื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาพูด จึงเชื่อว่าเขาต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 ปี

“ถ้ามองถึงโครงสร้างที่ทำให้เมตาเวิร์สพร้อมสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน หรือ คริปโตเคอเรนซี เชื่อว่าในปัจุบันค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เมตาเวิร์สไม่ได้เป็นแค่เกมอีกต่อไป มีอีโค่ซิสเต็มส์ มี อีโคโนมี่อยู่ในนั้น ทำให้เชื่ออยู่ลึกๆว่าจะมีโอกาสบนเมตาเวิร์สอยู่ใน 5 ปีข้างหน้า โดยขึ้นอยู่กับว่า “บิ๊กเพลเยอร์” หรือผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่ออกมาผลักดันเรื่องนี้ จะกำหนดทิศทางให้เมตาเวิร์สออกไปทางไหน จะผูกขาดให้ใช้เครื่องมือของเขา หรือ แต่ละคนมีแพลตฟอร์มของตัวเองออกมาเลย

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมตาเวิร์ส เกิดแน่นอน เพียงแต่จะเป็น single economy โตจากเครื่องมือตัวเดียว หรือ ต่างคนต่างกระจายไปบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งภาพตรงนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือ จะมีเอเจนซี่ หรือ บริษัท ที่รับสร้างสรรค์สิ่งต่างๆบนเมตาเวิร์ส ทั้ง เรื่องคริปโตเคอเรนซีต่างๆที่เปิดขึ้นมารองรับและสิ่งพวกนี้จะโตขึ้นแบบมีนัยยะในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ไป จะเห็นภาพ จะเห็นข่าว ทุกอย่างจะเติบโตขึ้นชัดเจน”

หวั่นหลอกลวงรูปแบบใหม่

ในมุมมองผู้ที่อยู่ในแวดวง“ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” อย่าง น.อ.อมร ชมเชย รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) บอกว่า ในมุมมองส่วนตัวเรื่องเมตาเวิร์ส ที่เป็นโลกเสมือนจริง ที่มีการใช้ อวาตาร์ แทนตัวตน เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะอาจจะมีเรื่องการหลวงลวงทาง ออนไลน์มากขึ้น เนื่องจาก พอเป็น เมตาเวิร์ส ยิ่งเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบคนที่อยู่เบื้องหลังอวาตาร์ ที่เราพุดคุยด้วย ที่จริง ๆ แล้วอาจเป็นใครก็ไม่รู้ และในความที่ “เมตาเวิร์ส” ในอนาคตอาจมีความสมจริงมาก ๆในการสร้างอวตาร์ ที่สามารถสร้างอวตาร์ตัวเองแบบใด อย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ และมีเทคโนโลยีเอไอมาช่วยประกอบด้วย ซึ่งอาจไม่มีอะไรบ่งชี้ได้เลยว่าตัวจริงคือใคร??

จากที่ปัจจุบันก็มีข่าวเป็นประจำอยู่แล้วที่มีการไปหารูปคนหน้าตาดีในอินเทอร์เน็ตมาหลอก สร้างโปรไฟล์ปลอมมาพูดคุยผ่านออนไลน์ แล้วหลอกให้โอนเงิน หลอกให้ลงทุน ฯลฯ

สอดคล้องกับทาง “แคสเปอร์สกี้” บริษัทระดับโลกด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ก็ระบุว่า เมตาเวิร์ส เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของอนาคต แต่ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคำนึงถึงความปลอดภัยของ อวาตาร์ดิจิทัลและ ภัยคุกคามที่อาจเกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์ส  

 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การโจรกรรมข้อมูลตัวตนและการยึดบัญชี โซเชียลเน็ตเวิร์กและเกม ซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียข้อ ข้อมูลส่วนบุคคล เกิดการแบล็กเมล์ การขโมยเงินจริง และ เงินคริปโตจากบัตรและวอลเล็ตที่เชื่อมโยงกับบัญชีหรือสิ่งของเสมือนจริงราคาแพง การใช้อวาตาร์เพื่อฉ้อโกง เช่น การขอยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัว รวมถึงปัญหาทางวิศวกรรมสังคม (social engineering) เช่น การแอบอ้างหรือสร้างตัวตนปลอมเพื่อพูดคุยปฏิสัมพันธ์ และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ฯลฯ

ดังนั้น“เมตาเวิร์ส” จึงกลายเป็นแม็กเน็ตของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง หากใครตามทันใครก้าวถึงก็มีชัยเกินครึ่ง แต่ถ้าชะล่าใจ ก็มีภัยไม่น้อยเช่นกัน!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์