CBDC (ซีบีดีซี) คือ เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน โดยวัตถุประสงค์หลักของการทดสอบและการพัฒนา Retail CBDC หรือออกใช้เงินดิจิทัลในภาคประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน

สำหรับประโยชน์ของ CBDC ได้แก่ 1.ไม่มีความเสี่ยง (Risk-free money) 2.เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบการชำระเงิน เนื่องจากไม่ต้องอาศัยตัวกลาง (P2P) 3.ประโยชน์การเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน (Interoperability) และ 4.สามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินได้ (Programmable money)

หลายคนได้เกิดคำถามว่า แล้ว CBDC แตกต่างอย่างไรกับ เงินสกุลดิจิทัลประเภทอื่น ๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี แล้ว CBDC ใช่คริปโตหรือไม่ โดยสามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้

CBDC คือ เงินดิจิทัลออกโดยธนาคารกลาง

-ออกโดย ธนาคารกลาง

-ไม่มีความผันผวนของมูลค่า

-ใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน หรืออาจไม่ใช้บล็อกเชนก็ได้

-มีความน่าเชื่อถือสูง เพราะออกโดย ธปท.

-เป็นเงินตามกฎหมาย ดังนั้นสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

Stablecoin คือ เงินสกุลดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง เช่น USDT หรือ Tether

-ออกโดย เอกชน

-มีความผันผวนน้อย เพราะอ้างอิงมูลค่าจากสกุลเงินอย่างเงินบาท หรือดอลลาร์ เป็นต้น

-ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

-ความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับผู้ออกเหรียญนั้นๆ

-ไม่ถูกตราเป็นเงินที่รับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี) คือ สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ หรือ อีทเธอเรียม เป็นต้น

-ออกโดย เอกชน

-มีความผันผวนของมูลค่าค่อนข้างมาก

-ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

-ความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับผู้ออกเหรียญ

-ไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดังนั้น เมื่อนำข้อเปรียบเทียบกันระหว่าง CBDC – StableCoin – Cryptocurrency จะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงเรื่องการนำไปใช้ชำระหนี้ หรือเป็นเงินตามกฎหมาย รวมถึงเรื่องความผันผวนของมูลค่า

ทำให้สรุปได้ว่า CBDC หรือ เงินบาทดิจิทัล แม้จะเป็น เงินสกุลดิจิทัล แต่ยังไม่ใช่ คริปโตเคอร์เรนซี นั่นเอง!