นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน รถโดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. ที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากที่รัฐบาลได้ให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล งดเดินทางออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. และให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. เริ่มวันที่ 12-25 ก.ค.64 เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 นั้น
จากเดิมมีรถเมล์ร่วมบริการประมาณ 2,000 กว่าคัน แต่ตอนนี้ให้บริการจริงแค่ 400-500 คันเท่านั้น เนื่องจากผู้โดยสารไม่เดินทาง ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้รายได้ลดน้อยลง บางเที่ยววิ่งมีผู้โดยสาร 2-3 คนต่อเที่ยวเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการรถเมล์ร่วมบริการบางเส้นทางปรับลดจำนวนเที่ยววิ่ง และ จำนวนรถเมล์ลง เช่น บางสายวิ่งไม่เกิน 5 คันต่อวัน ขณะเดียวกันบางเส้นทางหยุดวิ่งบริการชั่วคราว เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว วิ่งไปก็ขาดทุน เพราะถ้าเปรียบเทียบระหว่างรายได้กับรายจ่ายแล้วพบว่ารายจ่ายมีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างพนักงานประจำรถ พนักงานประจำท่ารถเมล์ ค่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และค่าเช่าอู่รถเมล์ราคาหลักแสนบาทต่อเดือน เป็นต้น
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยา 3 ข้อ ดังนี้ 1.ขอลดราคาขายปลีกก๊าซ NGV จากปัจจุบันราคา 14-15 บาทต่อ กิโลกรัม (กก.) ลดเหลือ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เหมือนที่รัฐบาลเคยช่วยเหลือมาแล้วตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 รอบแรกเมื่อปี 63 2.ช่วยอุดหนุนเงินรายได้ที่สูญเสียไป สำหรับรถเมล์ร้อน 1,000 บาทต่อคันต่อวัน และ รถเมล์แอร์ 1,500 บาทต่อคันต่อวัน และ 3.หาแหล่งเงินกู้ หรือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบการรถเมล์ร่วมบริการ เพื่อที่จะนำเงินเหล่านี้มาฟื้นฟู และบำรุงรักษารถเมล์ที่จอดเฉยๆ ไม่มีการนำมาให้บริการ เมื่อจอดเป็นเวลานานทำให้เสื่อมสภาพได้ ดังนั้นการบำรุงรักษาจะทำให้รถกลับมามีสภาพพร้อมใช้งาน และปลอดภัยกับผู้ใช้บริการต่อไป
ขณะนี้ทางสมาคมฯ เกรงว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเป็นปกติแล้ว ทำให้รถเมล์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่งผลให้ผู้โดยสารเดือดร้อนในการเดินทางได้ เพราะช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการรถร่วมฯ อยู่ที่ 8-9 แสนคนต่อวัน ซึ่งจำนวนผู้ใช้ใกล้เคียงกับผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ที่มีวันละ 1.2-1.3 ล้านคนต่อวัน