ปีวัวแห่งความถึกทน 2564 กำลังจะผ่านไป ก้าวสู่ปีเสือ 2565 ในรอบปีที่ผ่านมาชีวิตวิถีใหม่แสดงตัวตนชัดเจน ได้รู้ว่าเวิร์กฟรอมโฮมหรือเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ยากเกินที่จะใช้ชีวิต

โลกออนไลน์ปลุกเทรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับคำใหม่ ๆ ที่เกิดมาจากอารมณ์ ความรู้สึก คำหนึ่งคำช่วยบอกเล่าอารมณ์ของเหตุการณ์หรือข่าวได้ กลายเป็นแฮชแท็ก ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ TikTok เมื่อจัดอันดับ “ประโยค คำ วลีแห่งปียอดนิยม” ที่โยงไปกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในปีที่ผ่านมา ทำให้ข่าว หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ย่อยง่ายขึ้นมาทันที รวมแล้วมีหลายคำหลายประโยคแห่งปี นำมาใช้สื่อสารกันทางโซเชียล และกลายเป็นภาษาไทยคำใหม่ที่ต้องบันทึกไว้ในพจนานุกรม

  1. “ทัวร์ลง”

มาจากสมัยที่ช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก เมื่อเวลาต้องเดินทางไปเที่ยวชมยังสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารหรือแหล่งชอปปิง จะมีผู้คนจำนวนมากลงมาจากรถทัวร์จนมีการประยุกต์ใช้ในโลกโซเชียล กรณีที่โพสต์เรื่องราวแล้วมีความเห็นต่าง บรรดาคอมเมนต์มีเข้ามาจำนวนมาก จึงเรียกว่า “ทัวร์ลง” เข้าใจง่ายกว่า ตัวอย่างเหตุการณ์เช่น บริษัทสินมั่นคงประกันภัย บอกเลิกประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 พร้อมแจ้งจะคืนเงินลูกค้า ปรากฏว่ามีคนเข้าไปแสดงความไม่พอใจ ต่อว่าบริษัทจำนวนมาก

คำว่าทัวร์ลงตีความหมายออกมาไม่ดี แต่บางทีไม่ใช่เสมอไป กับข่าวน้ำพริกนิตยาขายดีจนรับออร์เดอร์ไม่ทัน เมื่อถูกโยงให้เข้าสู่การเมือง กรณีที่ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำผกา นักเขียนและพิธีกรชื่อดัง ไปถ่ายทำรายการ ที่ร้านน้ำพริกนิตยา บางลำพู เจ้าของร้านออกมาขอโทษที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายทำ โดยให้เหตุผลว่าขอดูเนื้อหารายการก่อน ทำให้พิธีกรคนดังกล่าวโพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่าร้านนี้ไม่ต้อนรับคนเสื้อแดง ไม่ต้อนรับคนรักประชาธิปไตย ทำให้ผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงแสดงความไม่พอใจ ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มเดินทางไปซื้อหาสินค้าในร้านและซื้อทางออนไลน์จน ผลิตไม่ทัน … อันนี้ทัวร์ลงในแง่จริง

2. “ฉันไม่ปังตรงไหนเอาปากกามาวง”

ประโยคเด็ดนี้มาจาก “แม่สิตางคุ์ บัวทอง” เน็ตไอดอลรุ่นใหญ่วัย 59 ปี สืบเนื่องมาจากแม่สิตางค์ุ ไปยกเครื่องทำศัลยกรรมครั้งใหญ่ ทั้งหน้าและหน้าอก หลังหน้าตาเข้ารูปเข้ารอย เธอถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่าน มาในชุดสีชมพูหวาน ๆ ท่าทางเซ็กซี่และข้อความโพสต์ ปรากฏว่า กลายเป็นไวรัลขึ้นมาทันที พร้อมกับยอดกดไลค์ถล่มทลาย จากนั้นมา คำเริ่มต้นที่ว่า “ฉันไม่ปังตรงไหนเอาปากกามาวง” ปรับเปลี่ยนไปในโลกโซเชียล เช่น “ไม่น่ารักตรงไหนเอาปากกามาวง” “ไม่เหมือนตรงไหน เอาปากกามาวง” เช่นเดียวกับ เว็บขายของออนไลนทั้งเว็บสีส้ม สีแดง หยิบคำนี้ไปใช้กันถ้วนหน้า ช่วงจัดโปรโมชั่นลดราคา รวมทั้งแม่ค้าในไอจีทั้งหลายต่างติดแฮชแท็ก “ไม่ปังตรงไหน เอาปากกามาวง” กันระรัว

3. “ฉันเป็นประธานบริษัท”

ไวรัลที่มาแบบงง ๆ อยู่เหมือนกัน และเชื่อว่าเจ้าของคลิปไม่คิดเหมือนกันว่าจะเป็นไวรัลได้ โดยเริ่มมาจากแอคเคานท์ TikTok พลอย ชิดจันทร์ นักแสดงสาว ทำละครคุณธรรมลงใน TikTok ซึ่งพบเห็นบ่อยจากโซเชียลของจีน มักเดาตอนจบได้ แต่ก็น่าติดตาม เรื่องราวของที่มาไวรัล มาจากที่เจ้าของบริษัท “พลอย ชิดจันทร์” ปลอมตัวมาเป็น รปภ. สุดท้ายมีผู้จัดการบริษัทแจ้งให้ทราบว่า “เธอนี่แหละคือประธานบริษัท” จนมาเป็นประโยค “ฉันเป็นประธานบริษัท” ในที่สุด ส่งผลให้คนเข้าไปดูยอดวิวเพิ่มขึ้นถึง 7 แสนวิว

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผู้ทำเรื่องราวงมงายทางโซเชียลให้กระจ่างทางวิทยาศาสตร์ ได้อินไปกับไวรัลนี้ไปกับเขาด้วย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง เกี่ยวกับมุกดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า “ในละคร มี “ประธานบริษัท” ปลอมตัวเป็น “ยาม” ในชีวิตจริง ดันมี “ยาม” ปลอมตัวเป็น “นายกรัฐมนตรี” … เหน็บแรงไปอีก!!

4. “แทบจะไม่ใช่ลูกแล้ว แทบจะเป็นลูกน้องคนหนึ่ง”

ประโยคนี้มีที่มาจาก “หนูแทบจะไม่ใช่ลูกคนหนึ่ง หนูแทบจะไม่ใช่ลูกคนหนึ่ง หนูแทบจะเป็นลูกน้องแม่คนหนึ่ง” มาจากน้องมาร์ติน โดยคุณแม่บอกให้น้องช่วยกันทำงานบ้าน คุณยูคุณแม่ของน้องมาร์ติน บอกว่าที่บ้านมีอาชีพขายของ เธอคิดว่า น้องมาร์ตินเห็นพ่อแม่สั่งงานลูกน้อง จนคิดออกเป็นคำพูดข้างต้น โดยได้โพสต์คลิปวิดีโอของน้องในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ปรากฏว่าแฟนคลับเพจคีโตของเธอ เห็นแล้วชอบขอให้คุณยูโพสต์ลง TikTok เพราะต้องการนำเสียงน้องไปใช้ ด้วยการพูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำ เสียงใส ๆ น่าเอ็นดู แววตาขี้อ้อนกลอกตาไปมา ทำให้มีดาราเหล่าคนดังนำเสียงน้องไปใช้ในติ๊กต็อกไม่ว่าจะเป็น “เต้ย” จรินทร์ พร ที่เล่นกับคุณแม่ น้องเอสเธอร์ที่ทำท่าซักผ้า และยังตามมาด้วย #แทบจะไม่ใช่แฟนแล้ว #แทบจะเป็นเพื่อนสาวแล้ว …#แทบจะไม่ใช่แม่คนหนึ่งแล้ว #แทบจะไม่ใช่แฟนแล้วแทบจะเป็นกรรมกรแล้ว #แทบจะไม่ใช่ครูแล้ว

5. “หิวแสง”

คำนี้โด่งดังมาเกือบ 2 ปีแล้วเป็นคำสแลงที่ใช้พูดกันในกลุ่มสาวสองมาก่อน เปรียบถึงคนที่ต้องการโด่งดัง หรือต้องการเป็นจุดเด่น มักจะออกมาให้ความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์กระแสสังคมที่ฮอตฮิตในตอนนั้น กรณีข่าวอดีต พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไลฟ์สอนธรรมะในเฟซบุ๊ก มียอดชมหลักแสน เรียกว่าสร้างปรากฏการณ์การไลฟ์สดธรรมะผ่านเฟซบุ๊กกันทีเดียว ร้อนถึง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทำหนังสือแจ้งไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้มีการสอบพระสงฆ์ที่ทำการไลฟ์สดไม่เหมาะสม ปรากฏว่านอกจากเหล่าแฟนเพจที่ชื่นชอบอดีตพระมหาไพรวัลย์เข้ามาถล่ม “ศรีสุวรรณ” ที่ได้ชื่อว่านักร้อง (เรียน) แล้ว ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ ศรีสุวรรณ ว่าเป็นผู้หิวแสง ต้องการเกาะกระแสดังไปกับเขาด้วย ขณะที่ศรีสุวรรณได้ออกมาบอกว่า “โดยปกติผมเป็นข่าวมาโดยตลอดตั้งแต่ทำงานเป็นเอ็นจีโอมา 30 กว่าปี จนเป็นเรื่องปกติ จะมาว่าผมหิวแสงได้อย่างไร ผมมีแสงอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ทำอะไรเคลื่อนไหวอะไรก็เป็นข่าวอยู่แล้ว ไม่เห็นเป็นเรื่องที่ต้องวิตกใด ๆ” …มั่นหน้าเบอร์แรงได้อีก

6. “ต๊าช”

มีรากมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “Touch” ที่แปลว่าสัมผัส หมายถึงเลิศมาก ดังมาก สวยมาก ดังมากประมาณนี้ ความต๊าชแห่งปีต้องยกให้ปรากฏการณ์ของ ลิซ่า แบล็คพิงค์ ในวันที่เอ็มวีตัวแรกของเธอปล่อยมาทางยูทูบเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา โดยสร้างปรากฏการณ์ 70 ล้านวิว ใน 24 ชั่วโมง ทำลายสถิติศิลปินหญิงเดี่ยวเป็นที่เรียบร้อย ดาราคนดังและผู้คนในโซเชียล มอบคำว่า “ต๊าช” ให้เธอ นอกจากท่าเต้นที่สะกดสายตามีความน่าทึ่งตรงที่ น้องลิซ่า สวมใส่ชุดไทยประยุกต์ แบบสไบเฉียงสีทอง บนศีรษะประดับ รัดเกล้ายอดประยุกต์ โดยผู้ออกแบบคนไทย “หมู อาซาวา asava”  

ความต๊าชเบอร์แรงแห่งปี ยังตกเป็นของ “แอนชิลี” ตัวแทนสาวไทยประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ผู้ปลุกคำว่า Real size Beauty สวยในแบบฉบับของตัวเอง เมื่อเธอสวมใส่ชุดที่จะร่วมประกวดเวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส หลายเสียงยกให้เป็นชุดที่ต๊าชทั้งชุดราตรี และชุดประจำชาติที่เรียกว่า “นางคาด”

7. “ทิพย์”

หมายถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาจากปากของเน็ตไอดอล “แม่หญิงลี” หรือรู้จักในนามพระมหาเทวีเจ้า ทำภาพกราฟิกว่าตัวเองได้ไปท่องเที่ยวในประเทศออสเตรเลีย แล้วโพสต์ว่า “เที่ยวทิพย์” จนเป็นคำที่ใช้ล้อเลียนเหตุการณ์ เช่น กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงเดือนพฤษภาคมมีโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรไม่ตรงตามที่บอกไว้ มีตัวอย่าง เช่น รพ.ธรรมศาสตร์ได้มา 6,000 โด๊ส ขณะที่ขอไป 12,000 โด๊ส ขณะที่ก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายน ประชาชนในประเทศได้วัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ 1% เท่านั้น หลังจากโควิดระบาดมากว่า 50 วัน

ปีหน้าเราคงได้เห็นคำใหม่ที่โดน ดัง ปัง กันต่อไป เพราะความช่างคิดของคนไทย…สวัสดีปีใหม่.