เปิดฉากการศึกษาในรอบปี 2564 ถือเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแบบสายฟ้าแล่บในกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ “ครูตั้น” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ โดนศาลอาญามีคำพิพากษาคดีกลุ่มกบฏคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จำคุก นายณัฏฐพล  6 ปี 16 เดือน ส่งผลให้ต้องหลุดจากเก้าอี้ “เสมา 1” โดยทันที แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่รอช้าเร่งมือปรับคณะรัฐมตรี (ครม.) ชุดเล็กด้วยการเซอร์ไพรส์อุ้ม “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” ส.ส.สระแก้ว เหาะกุมรหัส “เสมา1” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแทนคนเก่า ซึ่งแม้น.ส.ตรีนุชจะเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่แต่กลับได้ตำแหน่งใหญ่แบบที่ไม่มีใครคาดคิดในช่วงปลายเดือนมีนาคม จึงทำให้ภาพของกระทรวงศึกษาธิการในตอนนี้มีผู้หญิงมาบริหารงานการศึกษารวม 3 คน ประกอบด้วย เสมา 2” คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กับนโยบายติดหูแต่ไม่ติดใจ “โคดดิ้งแห่งชาติ” และ “เสมา 3” นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กับนโยบายอีเวนท์หาเสียง “กศน.ว้าวว้าว”

มาดูบทบาทสตรีหญิงหมายเลขหนึ่งกับการเป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนการศึกษาของ “ตรีนุช” ตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนที่รับไม้ต่อจากรัฐมนตรีคนเก่าได้ประกาศนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อ คือ 1.การปรับปรุงหลักสูตรให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 2.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล 3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม 4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน 5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ 6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย 7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ 8.การพัฒนาเด็กปฐมวัย 9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 10.การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับ 11.เพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และ12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) อีก 7 ด้าน ได้แก่ 1.ความปลอดภัยของผู้เรียน 2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ 3.Big Data 4.ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) 5.พัฒนาทักษะทางอาชีพ 6.การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย และ 7.การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แต่ตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนของ “ตรีนุช” ยังไม่เห็นผลงานใดๆที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หรือทำให้เห็นว่าการศึกษาลูบได้คลำได้ เพราะขนาดตั้งกุนซือระดับเซียนการศึกษาหลากหลายคนรอบกาย ยังมองไม่เห็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษา

หันมามองการบริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีหน้าใหม่ป้ายแดงกับภารกิจสำคัญที่ต้องสวมบทหนักกับการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นรอยต่อที่การศึกษาเจอวิกฤติโควิดกระหน่ำต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้วที่นักเรียนทุกคนต้องหยุดไปโรงเรียนและหันมาเรียนหนังสือจากที่บ้านแทน เพราะจากเดิมที่ต้องเปิดภาคเรียนที่ 1 ตามกำหนดเดิมในวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปีแต่ต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปอีก 1 เดือนเหมือนปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ “ตรีนุช” เปิดตัว “ครูพร้อม” เว็บไซต์กลาง เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง

ขณะที่ในช่วงของการเรียนออนไลน์ที่ไม่สามารถจัดการสอนที่โรงเรียนได้ ศธ.ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวโดยโอนเงินงบประมาณตามโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน รวมประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาทด้วย

ส่วนการเปิดเรียนในสถานการณ์โควิดยังยึดจัดการศึกษาผ่านการเรียน 5 รูปแบบ คือ การเรียนแบบ On-site เดินทางมาเรียนที่โรงเรียนซึ่งเหมาะสำหรับโรงเรียนที่มีปริมาณนักเรียนน้อยสามารถจัดพื้นที่แบบเว้นระยะห่างและเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยตามมาตรการด้านสาธารณสุข การเรียนแบบ On-Air ผ่านระบบมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV การเรียนแบบ On-Line ครูผู้สอนทำการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเรียนแบบ On-demand ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น และ การเรียนแบบ On-hand ครูผู้สอนแจกเอกสารใบงานให้นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน แต่พายุเชื้อโควิดยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ มีการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีการเปิดเรียนในภาคเรียนที่ 2 ได้ หลังจากเด็กต้องหันมาเรียนออนไลน์เกือบ 1 ปีเต็ม “ตรีนุช” จึงมีนโยบายปรับการวัดและประเมินผลของนักเรียน โดยภาคเรียนที่ 1 ปรับรูปแบบการสอบใหม่ ให้ทำโครงงาน โปรเจคท์งาน หรือใบงานแทนการมานั่งกาข้อสอบ เพราะเมื่อมีการจัดการศึกษามาได้สักระยะหนึ่งจะพบว่าหากจัดการสอบแบบเดิมเหมือนการเรียนที่โรงเรียนแบบปกติจะเกิดปัญหา เพราะนักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน แต่เป็นการเรียนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ออนไลน์ หรือ แจกใบงานให้ไปทำที่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นการวัดและประเมินผลที่ผ่านมาจะต้องมีการสอบกาคำตอบที่ถูกต้องด้วย ก ข ค ง แต่การเรียนในยุควิกฤติเช่นนี้ต้องยืดหยุ่นไม่จำเป็นต้องมานั่งทำข้อสอบ เพราะนักเรียนไม่ได้เรียนวิชาการแบบเต็มรูปแบบ เช่น การสอบผ่านรูปแบบใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงานแทน เป็นต้น ส่วนภาคเรียนที่ 2 ซึ่งถือเป็นการสอบเพื่อเลื่อนชั้นและจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 หากไม่มีการวัดและประเมินผลด้วยการสอบก็จะไม่มีคะแนนใช้ศึกษาต่อได้ ดังนั้นต้องไม่ทำให้เด็กช่วงชั้นเหล่านี้เสียสิทธิ แต่จะต้องหาวิธีการวัดและประเมินผลให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์มากขึ้น

ส่วนกฎหมายการศึกษาอย่างร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ถือเป็นจุดเปลี่ยนการจัดการศึกษาในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เน้นพัฒนาให้เด็กมีสมรรถนะในการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับชีวิต คิดวิเคราะห์ในมุมมองที่แตกต่าง มีความคิดรอบด้าน ในส่วนของครูจะมุ่งเน้นพัฒนาครูให้มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ขณะเดียวกันยังเร่งรัดปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่หลักสูตรฐานสมารรถนะ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 พร้อมๆกับจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการสอนแบบ Active learning นอกจากนี้ การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ จะมีความอิสระมากขึ้น เน้นให้สถานศึกษามีความเป็นเอกภาพ เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและอิสระทางวิชาการ รองรับการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก แต่ ณ เวลาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังค้างการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จึงมีคำถามจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีใช่หรือไม่

ปิดท้ายปี 2564 สำหรับแวดวงการศึกษาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมายังเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและมีผลงานลักษณะลูบหน้าปะจมูก เป็นการศึกษาที่ยังหาทิศทางจับต้องไม่ได้ ซึ่งไม่เห็นแม้เงาของการปฏิรูปการศึกษาตามที่วาดฝันไว้

ทีมข่าวการศึกษา