เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลการทดสอบการยับยั้งไวรัสตัวแทนสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า

“ผลการทดสอบการยับยั้งไวรัสตัวแทนสายพันธุ์โอมิครอน ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ของ ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนาระบบไวรัสตัวแทนที่มีการแสดงออกของโปรตีนหนามสไปค์ของ SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน และ ใช้ระบบไวรัสดังกล่าวทดสอบกับตัวอย่างซีรั่มที่ได้รับจากอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยดังนี้

S-S: ได้รับ CoronVac ของ Sinovac 2 เข็ม และ เก็บซีรั่มที่ 1 เดือน หลังเข็มสอง

S-A: ได้รับ CornaVac และตามด้วย AstraZeneca และ เก็บซีรั่มที่ 2 สัปดาห์หลังเข็มสอง

S-S-A: ได้รับ AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 กระตุ้นหลังจากได้ CoronaVac 2 เข็ม เก็บซีรั่มหลังเข็มสาม 2 สัปดาห์

S-S-P: ได้รับ Pfizer เป็นเข็มที่ 3 กระตุ้นหลังจากได้ CoronaVac 2 เข็ม เก็บซีรั่มหลังเข็มสาม 2 สัปดาห์

ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า สูตรวัคซีน 2 เข็มให้ค่า Neutralization antibody ที่ยับยั้งไวรัสตัวแทนโอมิครอนได้ต่ำกว่าค่า Limit of Detection (LOD) คือ 40 เป็นส่วนใหญ่ โดย ทั้งสองสูตรไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

สูตร S-S-A ให้ค่า Neutralizing antibody เฉลี่ยสูงกว่าค่า LOD แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษามีความหลากหลายของภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง ทำให้ค่าความต่างทางสถิติยังไม่มีนัยสำคัญ มีตัวอย่างบางคนใน S-S-A ที่ได้ค่าที่สูงมากเช่นกัน

สูตร S-S-P ให้ค่า Neutralizing antibody ต่อ โอมิครอนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ โดยมีค่าสูงกว่า LOD อย่างชัดเจน และ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับทุกสูตร โดย S-S-P สูงกว่า S-S-A ประมาณ 3 เท่า

เนื่องจากระดับแอนติบอดีที่วัดคือ 2-4 สัปดาห์หลังกระตุ้น ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่า ความสามารถในการยับยั้งไวรัสจะลดลงหรือไม่ ซึ่งต้องทดสอบต่อไปในอนาคตเมื่อมีตัวอย่างเพิ่มขึ้นครับ ปล: หลังปีใหม่ทีม AVCT มีซีรั่มรอให้ทดสอบอีกเป็นพันครับ คงได้ข้อมูลมากขึ้นอีกในไม่ช้าครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ”..

ขอบคุณข้อมูลประกอบ : Anan Jongkaewwattana