โดยเห็นได้ชัดว่ามีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์น้อยลง ตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์น้อยลง แม้จะมีรายงานอย่างแพร่หลายว่า พบแรงงานข้ามชาติถูกบังคับอยู่ในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย แต่รัฐบาลสามารถระบุตัวผู้เสียหายได้จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจการปฏิบัติกับปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ขาดขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับ “ผู้ตรวจแรงงาน” ในการส่งต่อคดีที่อาจเกิดขึ้นไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่เคยรายงานระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่เกิดจากการตรวจเรือประมงที่ท่าเรือ การจัดบริการของรัฐดูแลผู้เสียหายยังไม่เพียงพอ ผู้เสียหายบางรายที่อยู่ในสถานคุ้มครองของรัฐขาดอิสระในการเดินทางเข้า-ออกสถานคุ้มครอง และการทุจริตและการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ที่รัฐเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ และรัฐบาลตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 5 คน ในปี 2563

ผลลัพธ์คือไทยถูกลดอันดับการค้ามนุษย์สู่เทียร์ 2 ประเทศที่ต้องจับตา….!!!!
และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์เวทีโลก หากจำกันได้ครั้งหนึ่งไทยเคยถูกปรับอันดับลดลงไปสู่ (Tier) เทียร์ 3 หลังรั้งอันดับเทียร์ 2 เฝ้าระวังติดต่อกันถึง 4 ปี (2553-2556) หากในปีนี้ยังทำคะแนนดีขึ้นไม่ได้ ปีต่อไปจะตกไปอยู่เทียร์ 3 อัตโนมัติ

ด้วยเหตุนี้ช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลสั่งการจัดทัพแก้โจทย์ไปยังทุกหน่วยงานให้เข้มงวดกวดขันจริงจังจึงเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล...สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ขานรับแนวทาง จัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) มอบหมายให้ พล...รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศพดส.ตร. พล...สุรเชษฐ์ หักพาล พล...ต่อศักดิ์ สุขวิมล พล...ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรอง ผอ.ศพดส.ตร. พล...ปัญญา ปิ่นสุข ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. เป็น หน.ชุดปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ และภาคประมงในประเทศไทย (TATIP)

นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานที่เปรียบเสมือนแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อน อาทิ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม. เป็นต้น

ตลอดครึ่งปี 2564 ศพดส.ตร. มีการจับกุมดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 167 คดี เพิ่มขึ้นจากยอดการจับกุมในปี 2563 ที่จับกุมได้ 133 คดี โดยประเภทของคดีแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ขณะที่มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 70 การช่วยเหลือผู้เสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายชาวไทย 224 ราย ผู้เสียหายต่างชาติ 93 ราย)

อย่างไรก็ตาม ตร.เพิ่มช่องทางออนไลน์รับแจ้งเหตุ ควบคู่กับการจัดการคัดแยกผู้เสียหายแบบออนไลน์ จับกุมผู้ต้องหาฐานบังคับใช้แรงงาน ตามมาตรา 6/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ เป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันยังปรับระยะเวลาสอบสวนของพนักงานสอบสวนลดลงจาก 70 วัน เป็น 67 วัน

สำหรับ สถิติคดีค้ามนุษย์ทางช่องทางออนไลน์ ระหว่างปี 2562-2564 มีดังนี้
ปี 2562 มีคดีค้ามนุษย์ 286 คดี เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนช่องทางออนไลน์ 32 คดี ไม่ผ่านช่องทางออนไลน์
254

คดีปี 2563 มีคดีค้ามนุษย์ 133 คดี เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนช่องทางออนไลน์ 37 คดี ไม่ผ่านช่องทางออนไลน์ 96
คดีปี 2564 มีคดีค้ามนุษย์ 167 คดี เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนช่องทางออนไลน์ 101 คดี (ในจำนวนนี้เป็นการจับกุมการโฆษณาจัดหางานผิดกฎหมายและหลอกลวงแรงงานทางสื่อออนไลน์ 71 คดี และจับกุมตามความผิดฐานเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก 33 คดี) และไม่ผ่านช่องทางออนไลน์ 66 คดี

พล...รอย ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. เผยถึงกรณีประเทศไทยถูกปรับลดอันดับว่า พยายามเร่งรัดตามข้อเสนอแนะทุกด้านทั้งการดําเนินคดี การพัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อดําเนินการเชิงรุกในการดําเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การสร้างความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ในทีมสหวิชาชีพได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์ในการทํางานเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เพียงพอ เพื่อประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน ซึ่งถูกมองว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์ ขาดขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ศพดส.ตร. มีการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ มิติการป้องกัน มีการลงพื้นที่ตรวจสถานบริการ, สถานประกอบการ, โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนโรงงานต่าง ๆ รวมทั้งเปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสทางออนไลน์

ส่วน มิติปราบปราม ได้ลงพื้นที่หาข่าวการกระทำความผิดที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ การตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับเบาะแสทั้งทางออนไลน์ และไม่ออนไลน์ จนนำไปสู่การจับกุมและการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์

ควบคู่กับการตั้งชุดช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากผลการปฏิบัติเข้าช่วยเหลือเหยื่อที่ไปทำงานและถูกแสวงหาประโยชน์ในต่างแดน ทั้งในกัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ที่สำคัญยังเพิ่มแนวทางฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นฟันเฟืองสําคัญในการขับเคลื่อน สามารถยกระดับการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้ขึ้นไปสู่ระดับเทียร์ 2 และเทียร์ 1

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อหวังจะก้าวข้ามเทียร์ 2 ในปีหน้าจะสัมฤทธิผลแค่ไหน.