เมื่อวันที่ 4 ม.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2565 นี้ ตนมีแนวทางขับเคลื่อนการศึกษาไว้หลายประเด็น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มุ่งมั่นอยากดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา การพัฒนาครู และการสร้างโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชน โดยในส่วนของการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นนั้น โครงการ “Chance – พาน้องกลับห้องเรียน” เป้าหมายเพื่อค้นหา ติดตาม และนำตัวเด็กที่ตกหล่น หรือต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน รวมถึงเด็กที่เป็นผู้พิการ หรือด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ทั้งหมด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่า ความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในเสริมสร้างให้คนมีความสุข ขณะที่การปักหมุดสร้างโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชน จะดำเนินการสแกนพื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กโดยรอบที่มีเด็กและครูไม่ครบชั้น เพื่อสร้างโรงเรียนเครือข่ายหรือโรงเรียนแม่เหล็กด้วยการเติมการศึกษาที่ครบวงจรไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ห้องเรียนคุณภาพอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้เด็กได้เข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม โดยจะเริ่มนำร่องโรงเรียนคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างละ 1 ภูมิภาคให้ได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนาครูถือเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ ศธ.ได้มีการพัฒนาครูอย่างครบวงจร เพราะทุกวันนี้โลกแห่งการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเรียนไม่ได้หยุดแค่เพียงห้องเรียนเท่านั้น อีกทั้งเราต้องการที่จะสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นครูจะต้องมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยครูจะต้องสามารถบูรณการทุกกลุ่มวิชาการเรียนรู้เพื่อผลิตผู้เรียนในอนาคตให้รู้จักคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น ทั้งนี้ไม่กังวลว่านโยบายต่างๆของตนที่ดำเนินการไว้จะไม่ได้มีการสานต่อ หากรัฐบาลมีการยุบสภาและเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งขอให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่ขณะนี้ตนจะมุ่งมั่นดำเนินการให้นโยบายที่ตนวางไว้ในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นให้สำเร็จภายในปี 2565 อย่างแน่นอน