นี่เป็นเรื่องราวของ “บาริสต้าวัยเกษียณ” ประจำร้าน Café Amazon Concept Store พหลโยธิน กม.56 อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา “แม่อี๊ด-จวนจันทร์ ครเพ็ง” วัย 61 ปี ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวนี้ไว้ เกี่ยวกับ “จุดเปลี่ยนชีวิต” และ “ชีวิตที่ได้เริ่มต้นอีกครั้ง” ในวัยเกษียณของบาริสต้าวัยเก๋าคนนี้

ทั้งนี้ เรื่องราวของแม่อี๊ดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ที่ถึงแม้ในหัวใจของผู้สูงอายุเหล่านี้จะยังคงมีไฟและพลัง แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสได้เดินต่อ เพียงเพราะเงื่อนไขในเรื่องของวัยกับอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ก็ใช่ว่า “ประตูแห่งโอกาส” จะต้องปิดตายเอาไว้เสมอ เพราะยังมีหลายภาคส่วนที่พร้อมจะมอบโอกาสพิเศษให้กับกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้ โดยหนึ่งในนั้นคือโครงการ Café Amazon  for Chance ที่ทาง โออาร์ เปิดโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเรียนรู้ กลุ่มทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมไปถึงในกลุ่มของผู้สูงวัยให้มีอาชีพและรายได้ ตลอดจนรู้สึกภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเองจากการทำงานในร้าน Café Amazon และเรื่องราวของ “แม่อี๊ด-จวนจันทร์” บาริสต้าวัยเกษียณคนนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวดี ๆ ที่ว่านี้

แม่อี๊ดเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะเกษียณ แม่อี๊ดเคยทำงานมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานในอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีอายุครบ 60 ปี แม่อี๊ดก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายจากทางบริษัทที่ทำงานอยู่ว่า ทางบริษัทตัดสินใจจะเลิกจ้างแม่อี๊ดแล้ว  เนื่องจากแม่อี๊ดอายุครบ 60 ปี แล้ว ทำให้วันเกิดแม่อี๊ดปีนั้นกลายเป็นวันพลิกชีวิต จากคนที่เคยทำงาน จากคนที่เคยมีรายได้ประจำ ก็ต้องกลายมาเป็นคนตกงาน ว่างงาน ซึ่งถึงแม้แม่อี๊ดนั้นจะยังรู้สึกว่า ตนเองมีเรี่ยวแรงและยังสามารถทำงานได้ แต่ด้วยเงื่อนไขในเรื่องของอายุ แม่อี๊ดก็ได้แต่ต้องทำใจรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมกับต้องทำใจยอมรับการเป็นผู้สูงอายุในวัยเกษียณ

“หลังถูกเลิกจ้าง แม่ก็ลองไปสมัครงานที่อื่นดู แต่ส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธด้วยคำตอบที่ว่า แม่แก่เกินไป แม่อายุมากเกินไปแล้ว ซึ่งหลังจากที่แม่ถูกปฏิเสธบ่อย ๆ เข้า แม่ก็เลยยิ่งรู้สึกท้อแท้มาก จนเหมือนตัวเองรู้สึกไม่มีคุณค่าอะไรเลย” แม่อี๊ดเล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่กำลังท้อแท้อยู่นั้น แม่อี๊ดก็ได้พบ “ประตูแห่งโอกาส” หลังจากหลานของแม่อี๊ดได้มาบอกว่า  ทางร้าน Café Amazon กม. 56 ตรงวังน้อยเปิดรับสมัครพนักงานผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่ออี๊ดได้ยินก็รู้สึกมีความหวังขึ้นมาทันทีว่า จะได้มีโอกาสทำงานหารายได้ จึงให้หลานพาไปสมัครงาน โดยระหว่างที่กำลังรอการตอบรับนั้น แม่อี๊ดเล่าว่า ไปทำงานทำความสะอาดห้องน้ำที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างรอคำตอบ ซึ่งหลังจากทำงานนี้ได้สักพักหนึ่ง ทาง Café Amazon ก็ได้ติดต่อกลับมา โดยแจ้งว่า ตกลงรับแม่อี๊ดเข้าทำงาน ทำให้แม่อี๊ดรู้สึกดีใจที่จะได้กลับไปทำงานอีกครั้ง

“วันที่ Café Amazon ติดต่อกลับมา และแจ้งว่า ตกลงรับแม่อี๊ดเข้าทำงาน ตอนนั้นแม่อี๊ดเองนึกว่าตัวเองหูฝาดไป เพราะไม่คิดว่าผู้สูงอายุแบบเราจะได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้อีกครั้ง ทำให้ตอนนั้นจึงรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากๆ ที่ตัวเองจะได้กลับไปทำงานอีกครั้ง” แม่อี๊ดได้เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อข่าวดีที่ได้รับในครั้งนี้

หลังจากทางร้าน Café Amazon ได้ตอบรับแม่อี๊ดเข้าทำงานแล้ว แม่อี๊ดได้เล่าให้ฟังว่า ได้เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะเริ่มทำงานใหม่อีกครั้งด้วยความรู้สึกตื่นเต้น โดยก่อนที่แม่อี๊ดจะได้เข้าทำงานภายในร้านได้นั้น แม่อี๊ดจะต้องไปเข้าโปรแกรมฝีกอบรมที่ทาง Café Amazon จัดเอาไว้ให้เสียก่อน เพื่อที่จะเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตามมาตรฐานของ Café Amazon โดยแม่อี๊ดได้เข้าฝึกอบรมร่วมกับน้องๆ พนักงานรุ่นลูกหลานคนอื่นๆ โดยใช้เวลาฝึกอบรมเป็นระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน จึงจบหลักสูตรอบรม และได้เข้าประจำการที่ร้าน Café Amazon Concept Store พหลโยธิน กม.56 อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แบบเต็มตัว และสำหรับ “กิจวัตรประจำวัน” ของ “บาริสต้าวัยเก๋า” อย่างแม่อี๊ดนั้น แม่อี๊ดได้เล่าว่า จะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ คือตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันเสาร์ โดยเวลาทำงานจะเริ่มตั้งแต่ 8:00 –17:00 น. ซึ่งนอกจากตำแหน่งบาริสต้าชงกาแฟแล้ว แม่อี๊ดบอกว่า ทุกคนที่ร้านรวมถึงตนเองจะสามารถทำงานหมุนเวียนทดแทนตำแหน่งกันได้หมด

“ชีวิตพนักงาน Café Amazon ของแม่จะเริ่มต้นทุกตี 4 ครึ่งของทุกวัน พอนาฬิกาปลุกที่ตั้งไว้ดังเตือน แม่ก็จะลุกขึ้นจากที่นอนมาหุงข้าวทำอาหารให้สามี พอเตรียมเสร็จแล้ว แม่ก็จะเตรียมตัวอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นก็แต่งตัว ก่อนที่จะทานมื้อเช้าให้เรียบร้อย พร้อมตระเตรียมข้าวกล่องมื้อกลางวันเพื่อนำไปทาน เสร็จแล้วก็จะขี่รถมอเตอร์ไซค์มาที่ร้าน ซึ่งระยะทางจากที่บ้านมาถึงร้านไม่ไกลมากประมาณ 2 กิโลเมตร

…เมื่อมาถึงร้าน แม่ก็จะตอกเวลาเข้างาน จากนั้นก็จะเริ่มจัดเตรียมอุปกรณ์ร่วมกับน้อง ๆ พนักงานคนอื่น ๆ เพื่อรอต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ถ้าถามว่าระหว่างงานแม่บ้านที่เคยทำกับงานที่ร้าน Café Amazon ต่างกันแค่ไหน บอกเลยว่า งานแม่บ้านที่เคยทำหนักกว่ามาก แต่งานที่ Café Amazon นั้นจะเบากว่า และสนุกกว่าเพราะมีอะไรให้แม่ได้เรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เรื่อย จนทำให้ตัวเราเองรู้สึกว่า ชีวิตของเราแอคทีฟมากขึ้น”

นี่เป็นกิจวัตรประจำวันในฐานะ “พนักงาน Café Amazon” ของแม่อี๊ด บาริสต้าวัยเก๋าของเราคนนี้ อนึ่ง การได้รับ “โอกาสดี ๆ” ให้ได้ทำงานที่ Café Amazon นั้น นอกจากจะสร้างอาชีพ-สร้างรายได้แล้ว การที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Café Amazon ยัง “เติมเต็มคุณค่า” ให้คนวัยเกษียณอย่างแม่อี๊ดอีกด้วย รวมถึงทำให้พบ  “มิตรภาพใหม่ ๆ” จากการทำงานที่นี่

“ที่นี่เป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน อย่างร้าน Café Amazon ที่แม่อี๊ดทำงาน น้องๆ ที่ร้านจะให้กำลังใจแม่ตลอด เพราะช่วงแรกที่ต้องทำงานจริงๆ ตอนนั้นแม่เองยังรู้สึกเกร็งๆ อยู่ แต่ก็ได้รับกำลังใจจากทุกๆ คนที่นี่ ที่คอยช่วยเหลือ คอยแนะนำให้แม่มาโดยตลอด ซึ่งทุกคนจะเรียกแม่ติดปากว่า…แม่อี๊ด แม่อี๊ด ทำให้จากเดิมที่แม่เองค่อนข้างจะรู้สึกกลัวๆ ก็เปลี่ยนเป็นความสุข จนรู้สึกเลยว่าที่ Café Amazon เป็นเหมือนครอบครัวที่ 2 ของแม่”

บาริสต้าวัยเก๋าเล่า “โมเมนต์ดีๆ” ให้ฟัง พร้อมทิ้งท้ายถึง “โอกาสพิเศษ” ที่ทำให้ “ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง” ว่า “อยากขอบคุณ  โออาร์ และ Café Amazon  ที่ได้มอบโอกาสดีๆ ให้แม่อี๊ดเป็นไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งในวัยเกษียณ ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้สึกดีใจที่จะได้ทำงาน มีรายได้ เพื่อช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวแล้ว โอกาสดีๆ ครั้งนี้ที่ได้รับ ยังทำให้ผู้สูงอายุอย่างเรารู้สึกว่า…ชีวิตของเรายังมีคุณค่า” บาริสต้าวัยเก๋า ระบุ

In Focus

โมเดลสร้างโอกาส: Café Amazon for Chance เป็นโครงการร้านกาแฟเพื่อผู้ด้อยโอกาส ที่ โออาร์ เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ได้มีอาชีพ มีรายได้ และภาคภูมิใจจากการทำงานในร้าน Café Amazon

ลดอัตรา Turn Over: Café Amazon ภายใต้โครงการ Café Amazon for Chance มีความแตกต่างจากร้าน Café Amazon ทั่วไป  โดยได้ออกแบบกระบวนการภายในร้านขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดรับกับการทำงานของบาริสต้าผู้ด้อยโอกาส และถึงแม้การบริหารร้านลักษณะนี้ จะมีความยากลำบากในช่วงแรกและต้องใช้เวลานานกว่าการฝึกพนักงานทั่วไป แต่หลังจาก Café Amazon for Chance เปิดให้บริการมามากว่า 2 ปี พบว่าอัตรา Turn Over ของพนักงานโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นเพียง 5% เท่านั้น โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของร้านกาแฟทั่วไป ซึ่งอยู่ที่ 30% ทำให้ไม่ต้องฝึกอบรมพนักงานใหม่มากนัก

ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม: ปัจจุบัน Café Amazon for Chance มีทั้งหมด 15 สาขา โดยแต่ละร้านจะมีการบริหารจัดการที่ผสมผสานทั้งพนักงานทั่วไปและพนักงานผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ Café Amazon for Chance จึงไม่ใช่แค่การสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนต้นแบบให้กับองค์กรและธุรกิจต่าง ๆ สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้

บาริสต้าวัยเกษียณ: หนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการร้าน Café Amazon for Chanceประทับใจก็คือ “ทีมบาริสต้าผู้สูงวัย” ซึ่งได้มีการเผยโฉมเป็นครั้งแรกในปี 2563 ณ ร้าน Café Amazon for Chance สาขากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนที่จะมีการขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ

#โออาร์ร่วมสร้างโอกาส

#บาริสต้าวัยเกษียณ