วันที่ 11 ม.ค. ได้มีกระแสข่าวว่ามีชาวประมงพื้นบ้านที่ออกตกปลาพบคราบสีเขียวมีกลิ่นเหม็นคล้ายน้ำมันลอยอยู่ระหว่างเกาะสมุย กับเกาะมัดสุม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งคาดว่ามาจากเรือไร้สัญชาติ (เรือผี) ที่จมลงใต้ทะเล หลังจากทัพเรือภาค 2 ได้ลากจูงเรือลำดังกล่าวจากพิกัดที่พบเรือ มุ่งหน้าปากน้ำตาปี ก่อนจมลงไปใต้ทะเลในพื้นที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ห่างจากฝั่ง 28 ไมล์ทะเล เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนายอรุณ บุปผโก ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย นำเรือออกตรวจสอบจุดที่ชาวประมงพื้นบ้านแจง ซึ่งจากการตรวจสอบรอบบริเวณพื้นที่ได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่ไม่พบคราบน้ำมันแต่อย่างใดตามที่มีการแจ้ง

นายอรุณ กล่าวว่า หลังจากได้รับแจ้งจาก น.อ.(พิเศษ) วศากร สุนทรนันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ ศรชล.ภาค 2 ให้ออกตรวจสอบบริเวณเกาะมัดสุม และเกาะแตน หลังจากมีข่าวว่ามีผู้พบคราบน้ำมัน โดยมีการระบุว่าเป็นคราบน้ำมันจากเรือไร้สัญชาติ ที่จมลงใต้ทะเลในพื้นที่ อ.สิชล จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่พบคราบน้ำมันตามที่ได้เป็นข่าว ส่วนคราบสีเขียวที่มีผู้พบและถ่ายรูปแชร์ในโซเชียลนั้น เป็นซากของแพลงก์ตอนที่ตายแล้วลอยขึ้นบนผิวน้ำ เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ว่าแพลงตอนบลูม

สำหรับการเกิดแพลงก์ตอนบลูมนั้น ก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ มีฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงทำให้มีปริมาณธาตุอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน หรือ การเกิดน้ำผุด (up welling) เป็นขบวนการที่น้ำเบื้องล่างถูกพัดพาขึ้นมาเบื้องบน เนื่องจากกระแสลมพัดเอามวลน้ำที่ผิวบริเวณชายฝั่งออกสู่ทะเลมวลน้ำที่อยู่ระดับลึกจะไหลเข้าสู่ฝั่ง แล้วกลับสู่ผิวน้ำแทนที่มวลน้ำที่พัดออกไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแพลงก์ตอน เพราะเป็นการนำธาตุอาหารจากพื้นน้ำเข้ามาสู่ผิวน้ำ ทำให้แพลงก์ตอนได้ใช้ จึงมีการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว.