เมื่อวันที่ 12 ม.ค. นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท) เปิดเผยว่า ค.ร.อ.ท.ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัย และ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยกเว้นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) นั้น โดยการเปิดรับสมัครในครั้งนี้มีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศว่างอยู่แล้วเป็นจำนวนมากถึง 50 ตำแหน่ง และรอง ผอ. 258 ตำแหน่ง ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงวันที 20 ธันวาคม 2564 และประกาศฯ คัดเลือก ผอ.วิทยาลัย ลงวันที่ 6 ม.ค. 2565

ประธาน ค.ร.อ.ท. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ตำแหน่ง ผอ.นั้น จะมีการรับสมัคร ใน วันที่ 1-10 ก.พ. 2565 นี้ ณ อาชีวศึกษาจังหวัดแต่ละแห่ง และจะมีการประกาศผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ภายในวันที่ 28 ก.พ.2565 เครือข่าย ค.ร.อ.ท.ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามดูการบริหารงานด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ได้รับข้อมูลและคอยติดตามเรื่องมาอย่างใกล้ชิดเห็นว่าตามประกาศรับสมัคร ผอ.วิทยาลัย มีข้อพิรุธหลายประเด็น โดยเฉพาะในข้อ 5 ของประกาศฯ นั้นมีการกำหนดวิธีการคัดเลือกตามที่วิธีการที่สอศ.ประกาศกำหนดนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้ คือ ภาค ก วัดความรู้ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ มีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ภาค ข ความเหมาะสมในการปฎิบัติงานในหน้าที่ คะแนนเต็ม 60 คะแนน  ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สัมภาษณ์) คะแนนเต็ม 30 คะแนน โดยมีการกำหนดเกณฑ์ การตัดสินโดยการรวมคะแนนภาค ก ภาค ข ภาค ค รวมไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน ซึ่งถือเป็นการใช้เกณฑ์ ที่อาจจะทำให้มีการดำเนินการที่ผิดหลักการในการคัดเลือกทั่วไป แม้แต่การรับสมัครสอบคัดเลือก รองผู้อำนวยการ ที่สอศ.ดำเนินการรับสมัครในขณะนี้ ได้กำหนดการสอบเป็นภาค ก ภาค ข และภาค ค โดยมีเกณฑ์ตัดสินต้องผ่านภาค ก ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะมีสิทธิ์รับการประเมินภาค ข และ ค แต่เพราะเหตุใดการสอบคัดเลือก ผอ.วิทยาลัย จึงไม่ใช้หลักเกณฑ์ เดียวกันทั้งที่เป็นการสอบคัดเลือกตำแหน่งผู้บริหารเหมือนกัน

“ค.ร.อ.ท. ตั้งข้อสังเกต ว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงตั้งเกณฑ์การวัดความรู้ ภาค ก เป็นความรู้ความสามารถในการบริหารงานโดยแท้แต่สอศ. กลับไม่ให้ความสำคัญให้คะแนน 10 คะแนน แต่กลับไปให้ความสำคัญในการสอบภาค ค โดยการสัมภาษณ์ สูงถึง 30 คะแนน ทั้งที่ใช้วิธีการวัดแค่ 5-10 นาที แน่ใจได้อย่างไรว่าผู้เข้าสอบจะได้รับความเป็นธรรม ในส่วนของการจัดสอบ ผอ.วิทยาลัย นั้นต้องการให้ สอศ.มีการกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์การประเมินในแต่ละภาค ทั้งภาค ก ภาค ข และภาค ค คะแนนแต่ละภาคจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เหมือนกับกรณีการคัดเลือกตำแหน่งรองผู้อํานวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งได้มีการประกาศรับสมัครอยู่ในขณะนี้นั้น เพื่อแสดงให้เป็นว่ากระบวนการสอบคัดเลือกมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมีหลักธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ ตามที่ สอศ. และที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาคนนี้อยากให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมาภิบาลจริงๆทุกขั้นตอน ก็ควรรับฟังเสียงสะท้อนและปรับปรุง กล้าที่จะประกาศ คะแนนผู้ที่เข้าสอบในแต่ละภาคให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใสเป็นธรรมป้องกัน การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาทั้งรอง ผอ. และ ผอ.เหมือนกัน จะได้มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าว