เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ฟาร์มสุกรแห่งหนึ่ง หมู่ 6 ต.สามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม พบกับนายชาตรี กิจสมัคร อายุ 69 ปี เจ้าของฟาร์หมู เล่าให้ฟังถึงผลกระทบจากโรคระบาด ASF ว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปี ฟาร์มหลายแห่งเริ่มมีโรคระบาด หมูตายกันเป็นจำนวนมาก ส่วนฟาร์มของตน เป็นหมูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากต่างประเทศ ที่นำน้ำเชื้อมาไขว้สายเลือด ให้หมูแข็งแรงมากกว่าหมูทั่วไป และขายให้ผู้เลี้ยงนำไปทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งต่างจากหมูทั่วไปที่เลี้ยงเข้าโรงเชือด ส่วนโรคระบาด ASF ก็ส่งผลกระทบกับฟาร์มของตน แต่ช้ากว่าคนอื่นๆ ทั่วไป เริ่มระบาดประมาณปี 2562 ส่วนฟาร์มของตน เริ่มมีโรคระบาด และหมูตายประมาณกลางปี 2564 จาก 500 ตัว ปัจจุบันเหลือประมาณ 40 ตัว สูญเงินไปกว่า 30 ล้านบาท

เจ้าของฟาร์ม เล่าต่อว่า รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากรัฐบาล กรมปศุสัตว์จะช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร เพียงหาวัคซีนดีๆ มา คนเลี้ยงหมูก็พอใจแล้ว ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คือ ไม่มีวัคซีนที่จะมาฉีดป้องกันโรค กรมปศุสัตว์ต้องดิ้นรนหาวัคซีนมาให้เกษตรกร เหมือนรัฐบาลหาวัคซีนป้องกันโควิดมาให้ประชาชน

เมื่อถามว่า หมูตายด้วยโรคระบาดมาเกือบ 2 ปีแล้ว ทำไมไม่มีใครพูด เจ้าของฟาร์มหมู บอกว่า ผู้เลี้ยงพูดไม่ได้ เพราะหากพูดไป ปศุสัตว์ก็จะเข้ามาปิดฟาร์มหมู ห้ามเคลื่อนย้ายหมูทั้งหมด หมูที่มีอยู่ก็ขายไม่ได้ ยกตัวอย่าง เลี้ยงหมูไว้ 1,000 ตัว ป่วยตาย 100 ตัว หากพูดไป ปศุสัตว์สั่งปิดฟาร์ม ห้ามเคลื่อนย้ายหมูทั้งหมด เท่ากับต้องปล่อยหมูที่เหลือให้ตายไปด้วย แทนที่จะขายได้บ้าง ก็ขายไม่ได้เลย

เมื่อถามต่อถึงเรื่องของวิธีการของภาครัฐ เจ้าของฟาร์มหมู กล่าวว่า วิธีการปฏิบัติแบบนี้ ไม่ถูกต้อง อธิบดีใช้ไม่ได้ หัดใส่เสื้อครุย ลงมาเดินลุยโคลนบ้าง มาดูความทุกข์ยากของประชาชน อย่าทำงานแต่ในห้องแอร์ วันนี้ต้องพูดความจริงกัน ที่ผ่านมา หมูเกิดโรคระบาดมา 2 ปีแล้ว หากปศุสัตว์ยอมรับความจริง เร่งพัฒนาวัคซีน วันนี้อาจจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ก็ได้

ขณะที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ลูกสาวโทรศัพท์เข้ามาหาพ่อ และบอกว่า ไม่ต้องให้สัมภาษณ์กับนักข่าวแล้ว มีคนโทรมาขู่ฆ่าพ่อ หากเกิดอะไรขึ้นแล้วใครจะช่วยพ่อ

เจ้าของฟาร์ม เล่าว่า หลังจากมีข่าวออกไป มีโทรศัพท์ลึกลับโทรเข้ามาขู่ เมื่อวานโทรมา 3 สาย เมื่อเช้าโทรมาอีก 1 สาย ตนก็บอกว่า มีอะไรให้มาพูดกันที่บ้าน พร้อมจะเปิดประตูต้อนรับเสมอ.