เมื่อวันที่ 17 ม.ค. เวลา 09.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

โดยพล.ประยุทธ์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ให้ความสำคัญกับ คนทุกกลุ่มและเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับประโยชน์ในทุกด้านอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องให้การศึกษากับเด็กนักเรียนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาและที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการติดตามนักเรียน นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หลังจากที่หลุดจากระบบไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยการสร้างความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานและการติดตามผลจากดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่เกิดจากการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนี้ เราจะคืนโอกาสให้กับเด็ก ๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยการพาเด็ก ๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีการศึกษาใหม่ 2565 นี้ โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวตนได้เห็นความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่ช่วยกันให้โอกาสเด็กที่หลุดระบบการศึกษา เพื่อให้ทุกคนได้รับกรศึกษาที่ดี ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการสำคัญและเป็นประโยชน์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้มีเด็กหลุดกว่าแสนคน ซึ่งทุกคนและทุกหน่วยงานต้องช่วยกันเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยตนอยากให้ศธ.สร้างความเข้าใจให้แก่เด็กได้เข้าใจว่าจะศึกษากันไปทำอะไร เพราะหลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาไม่ใช่สถานการณ์โควิดเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งเด็กที่หลุดระบบการศึกษามีความจำเป็นอย่างอื่นด้วย ดังนั้นศธ.จะต้องไปหาข้อมูลเหล่านี้และแก้ปัญหาไปที่ละจุด พร้อมกับเจาะลึกรายครอบครัว อยากฝากให้ดูแลผู้ปกครองให้มีความพร้อมด้วย เพราะเมื่อนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้วต้องอย่าให้หลุดออกไปอีก นี่คือสิ่งสำคัญว่าเราจะดำเนินการเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ

“ศธ.เป็นผู้นำการศึกษาจะต้องมีความรับผิดชอบและต้องทำงานบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นของขวัญสำคัญที่รัฐบาลให้แก่ประชาชน เพราะการศึกษากับคนไทยเป็นเรื่องใหญ่จะต้องทำอย่างจริงจังหาวิธีที่เหมาะสม โดยการเรียนทุกระบบจะต้องมีมาตรฐาน ซึ่งการนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเราต้องจัดหาโรงเรียนคุณภาพ แม้เราจะมีกองทุนต่างๆเพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กก็ตาม แต่เมื่อเด็กได้เรียนกับโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นประเด็นนี้คือเรื่องสำคัญที่ศธ.ต้องพิจาณาและขับเคลื่อนการสร้างโรงเรียนคุณภาพที่มีครบทุกอย่าง เพื่อเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ตนเป็นกังวลคือ ความคิดของเด็ก อยากให้เด็กไทยเรียนรู้บ่อยๆ เรียนรู้จากห้องเรียนและนอกห้องเรียน เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วเอามาคิด เพื่อเตรียมตัวเองไปสู่อนาคตว่าจะเลือกเรียนเส้นทางไหน  ไม่ใช่เรียนจบมาแล้วมีหนี้สิ้นติดตัว ต้องฝึกให้เด็กคิดเป็นไม่เป็นภาระของครัวเมื่อจบมา

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่าน โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบัน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และจากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัด สพฐ. จำนวน 78,003 คน สังกัด สป. จำนวน 50,592 คน สังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 ราย 

“ศธ.มีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด และจะได้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดกับทุกเคสทุกกรณีกันต่อไป เบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ในวันนี้ ให้ช่วยติดตาม เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง” น.ส.ตรีนุช กล่าว