เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ จ.นครพนม ภายหลังมีข่าวการขึ้นราคาไข่ไก่ จากปกติฟองละ 3-4 บาท เพิ่มเป็น 5 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ค่าครองชีพของชาวบ้าน ทางผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ปัญหาราคาไข่ไก่ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม เนื่องจากเป็นพื้นที่มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่มากที่สุดของ จ.นครพนม กว่า 20 ฟาร์ม รวมกว่า 1 แสนตัว โดยมีผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละกว่า 1 แสนฟอง โดยจากการสอบถามเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังยืนยันว่าขายในราคาเดิมไม่ปรับขึ้นราคา

ส่วนการปรับขึ้นราคามาจากพ่อค้าคนกลางที่เป็นนายทุนกำหนดเอง และมีการกดราคาเกษตรกรเพื่อขายเก็งกำไร ส่วนเจ้าของฟาร์มยังขายส่งราคาเดิมเพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากมีการควบคุมจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งนี้อยากสะท้อนไปยังรัฐบาลให้มีการแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบ หัวอาหาร แม่พันธุ์ที่มีราคาแพง แทนการควบคุมราคาไข่ไก่ให้เกษตรกรอยู่ได้เป็นการแก้ปลายเหตุ เพราะปัจจุบันเกษตรกรหลายรายต้องหยุดเลี้ยงไก่ไข่เพราะแบกภาระต้นทุนไม่ไหว แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาไข่ไก่ได้ตามกลไกของตลาด

นางพรพิมล พิมพ์พงษ์ อายุ 57 ปี เจ้าของบุญเรียนฟาร์ม ต.บ้านกลาง อ.เมือง นครพนม เปิดเผยว่า ชาวบ้าน ต.บ้านกลาง อ.เมืองนครพนม ยึดอาชีพเลี้ยงไก่ไข่มานานกว่า 20 ปี เดิมมีฟาร์มไก่ไข่มากกกว่า 20-30 ฟาร์ม รวมไก่ไข่มากกกว่า 4-5 แสนตัว ปัจจุบันต้องทยอยเลิกทำอาชีพเลี้ยงไก่ไข่เพราะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เหลือแค่ประมาณ 10 ฟาร์ม รวมแม่พันธุ์ประมาณแสนตัว ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ราคาต้นทุนวัตถุดิบหัวอาหาร ปัจจุบันราคาแพงขึ้นกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากราคา 400 บาท เพิ่มเป็น 450-500 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ ตกตัวละ 40-50 บาท จากปกติ ตัวละ 20-13 บาท ในฟาร์มของตนปัจจุบันมีแม่พันธุ์ไก่ประมาณ 17,000 ตัว ออกไข่วันละประมาณ 15,000 ฟอง ต้องแบกต้นทุนค่าอาหารวันละประมาณ 25,000 บาท เฉลี่ยไข่ไก่ที่ขายออกไปตกฟองละ 3 บาท ได้กำไรฟองละไม่ถึง 5 สตางค์ ต้องอาศัยจำนวนมาก วันไหนไก่ออกไข่น้อย ขาดทุนเพราะกินเท่าเดิม ต้นทุนอาหารสูง

นางพรพิมล กล่าวอีกว่า สำคัญที่สุดปัญหาหนักปัจจุบันคือต้นทุนหัวอาหาร เกษตรกรต้องแบกต้นทุนสูงแต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาไข่ไก่ได้ ยังขายราคาปกติเฉลี่ยฟองละ 3-4 บาท ส่วนกรณีที่มีการปรับขึ้นราคาเพราะนายทุน พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อกำหนดราคาเอง หนำซ้ำยังกดราคาเกษตรกร อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือเรื่องต้นทุนหัวอาหาร ต้องมีการควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป ไม่ใช่มาควบคุมราคาไข่ไก่ อยากให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เมื่อต้นทุนสูงไข่ต้องปรับขึ้นราคาเป็นธรรมดา เพราะหากไม่ปรับราคาไข่ปัญหาขาดทุนตามมา ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปลายเหตุ สุดท้ายผลประโยชน์ตกที่นายทุน วอนช่วยเหลืออุดหนุนไข่ไก่เกษตรกรบ้านกลาง ชาวบ้านจะได้บริโภคไข่ไก่สดทุกวันสะอาด ปลอดภัย