เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ศาลอาญาธนบุรี มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1150/2562 ที่นายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ พ่อค้าขายข้าวเหนียวไก่ทอด โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 บริษัท กาแล็คซี่ไดมอนด์ จำกัด จำเลยที่ 2 นายดีวัง กุมาร ชีวันทิลาล ซังกาวี จำเลยที่ 3 และ นางประยอม ตันสถาพร จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนำความเท็จฟ้องผู้อื่นฯ และเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 175, 177

พฤติการณ์กล่าวหาคดีนี้ สรุปว่า เมื่อเดือน เม.ย.60 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์ โจทก์คดีนี้ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรี ในข้อหาวิ่งราวทรัพย์และหน่วงเหนี่ยวกักขัง จากที่เกิดเหตุมีคนร้ายคือนายแดง วิ่งราวทรัพย์แหวนเพชร 4 รายการของ น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพขายเพชร ที่นำไปขายให้นายแดงที่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านภาษีเจริญ โดยเมื่อเกิดเหตุคนร้ายได้วิ่งหนีพร้อมถาดแหวนเพชร โดย น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ถูกขังอยู่ในบ้านพักดังกล่าว ภายหลังเมื่อมีการแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจได้ส่งรูปบัตรประชาชนของโจทก์ที่เคยใช้สำหรับเปิดใช้มือถือให้ น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ดูแล้วแจ้งว่า นายพิสิษฐ์ คือนายแดง และได้มีการสอบ นางประยอม จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแม่บ้านเป็นพยาน โดยเมื่อเดือน ก.ค.60 จำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นโจทกก์ร่วมคดีดังกล่าว และบริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 มอบอำนาจจำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้เข้าการเบิกความคดีดังกล่าว โดยการเบิกความนั้นเป็นเท็จ ปรักปรำให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา

ชั้นตรวจฟ้อง ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ขณะที่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในข้อหาเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ยกฟ้องแพะคดีฉกเพชร15ล. ดีใจก้มกราบแม่กลางศาล

‘แพะฉกเพชร’ไม่อาฆาตตร. ขอเป็นคนสุดท้ายที่ถูกจับมั่วๆ

ขณะที่ คำพิพากษาสรุปว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 แล้ว การที่จะเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่นำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ โดย น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวซึ่งยืนยันว่า นายพิสิษฐ์ โจทก์ คือนายแดงคนร้ายที่วิ่งราวทรัพย์ โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่นายแดง ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวหากศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความจะมีผลให้ได้รับโทษจึงเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม มาตรา 177 วรรคสอง

สำหรับนางประยอม แม่บ้าน จำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเคยพบกับนายแดงมาก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งในวันเกิดเหตุได้พบกับคนร้าย 2 ครั้งแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน และเมื่อมีการวัดความสูงเปรียบเทียบโจทก์กับคนร้าย ภายหลังจำเลยที่ 4 จึงเบิกความใหม่ว่า โจทก์ไม่ใช่คนร้าย เมื่อไม่ปรากฏเหตุจูงใจที่จะทำให้เห็นได้จำเลยที่ 4 มีเจตนาเบิกความอันเป็นเท็จ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 227 วรรคสอง

ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำคุก 3 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ภายหลังศาลอาญาธนบุรี มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 ฐานเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 แล้ว ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยมีหลักประกัน 150,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีเพชรถูกโจรกรรม 15 ล้านบาท เกิดเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.59 ในบ้านแห่งหนึ่ง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และตำรวจติดตามไปจับกุมตัว นายพิสิษฐ์ พ่อค้าขายข้าวเหนียวไก่ทอด จ.นครพนม เมื่อวันที่ 16 ก.พ.60 ที่ผ่านมา จากนั้นภรรยาของนายพิสิษฐ์ ร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรมว่า สามีของเธอไม่ใช่คนร้าย จากนั้นทางกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรวจสอบพยานหลักฐาน จึงพบพิรุธหลายเรื่อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 60 ศาลอาญาธนบุรี พิจารณายกฟ้อง หลังนายพิสิษฐ์ ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี นานกว่า 7 เดือน

อย่างไรก็ตามฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 14 ส.ค.61 จากนั้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขอยื่นฎีกา คดีแพะชิงเพชรจึงคดีสิ้นสุดในวันที่ 24 ธ.ค.61 แต่อดีตจำเลยในคดีดังกล่าว ต้องมารับผลกระทบจากการกระทำของคนของรัฐ จนมีหนี้สินจำนวนมาก