ยังคงเป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์ สำหรับคดีของหมอกระต่ายที่ถูกตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์ชนบนทางม้ายลาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศปวถ.) พ.ต.อ.สุกิจ อรุณฤกษ์ถวิล รอง ผบก.จร. และนายตี๋ (นามสมมุติ) ผู้เห็นเหตุการณ์ ได้มาร่วมพูดคุยผ่านรายการ “โหนกระแส” ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย”

โดย “ตี๋” ได้เล่าว่า วันนั้นได้ชะลอเพราะเป็นทางม้าลาย เราได้ยินเสียงดังสนั่น รถชนคุณหมอลอยแล้วถลามาทางด้านผม เลือดออกเต็มไปหมด เราก็วิ่งไปดูคู่กรณีด้วย เห็นนอนคว่ำหน้าอยู่เลยมาดูคุณหมออีกครั้ง ตอนนั้นเหตุการณ์เกิดเร็วมาก เราเชื่อว่ามอเตอร์ไซค์เป็นฝ่ายชน ไม่ใช่รถเก๋งอย่างที่คนแถวนั้นเข้าใจ เราได้ยินมอเตอร์ไซค์บิดรถดังสนั่น ดังเข้ามาในหมวกกันน็อกผมเลย

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า เราต้องดูความเร็วมาประกอบ แต่ในลักษณะนี้อาจจะต้องคลิปใช้ความเร็ว แต่ก็เอะใจว่าที่บอกว่าใช้ความเร็ว 80 กม./ชม. มันก็เป็นความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการที่เห็นคลิปว่าพ้นโค้งมาแล้วตบรถออกมาขวาเลย ก็ในสำนวนอาจจะต้องมีกล้องตั้งแต่ที่ บช.น. เลย ว่ามีพฤติการณ์การขับขี่อย่างไรมาแนบสำนวนฟ้อง เป็นหลักฐานสำคัญ แต่กรณีนี้ 7 ข้อหาของเขาเป็นเพียงโทษปรับ มีเพียง 1 ในนั้นเป็นข้อหาหนักแค่ข้อหาเดียว เมื่อไปถึงกระบวนการศาล ก็จะมีการพิจารณาข้อหาที่หนักที่สุด โทษที่แรงที่สุดก็คือขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษสูงสุดก็คือจำคุก 10 ปี แต่เคสกรณีนี้ที่เราเจอ เมื่อถึงชั้นศาล พอมีการรับสารภาพ แล้วก็ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ก็จะอยู่ในวิสัยที่ศาลท่านให้รอลงอาญาไม่เกิน 5 ปี สุดท้ายก็ไม่มีใครได้ติดคุกหรอก

ส่วน พ.ต.อ.สุกิจ รอง ผบก.จร. เผยว่ากรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือไม่ เราก็ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน ถ้าเป็นตำรวจเราก็ต้องเอาผิดอย่างแน่นอน ซึ่งกฎหมายมีการระบุอย่างชัดเจนแต่ผู้ขับขี่นั้นปฏิบัติตามกฎจราจรหรือไม่ ซึ่งในส่วนของที่มีการมองว่า ตำรวจบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ส่วนตัวมองว่า จริงๆ แล้ววันหนึ่งเราจับผู้ทำผิดอย่างมากมาย แต่ทางม้าลายนั้นไม่ค่อยเห็น แต่ถ้ามีหลักฐานเราก็ต้องดำเนินคดีอย่างแน่นอน โดยมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ก็มีอุปสรรคตรงที่เราไม่ได้ยึดใบขับขี่ จึงทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย ไม่เสียค่าปรับ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ

ส่วนเรื่องที่มีการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งคดีนี้มองว่า ไม่ได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปคุกคามพยายานก็ปล่อยตัวได้ อีกหนึ่งอย่างคือกรณีนี้ยังไม่มีการออกหมายจับแล้วเขาก็มามอบตัวทันทีด้วย เราปล่อยแล้วก็ไม่ได้ปล่อยเลย เมื่อเรียกแล้วก็ต้องเข้ามาพบ ส่วนเรื่องมอเตอร์ไซค์นั้น ก็มีการตรวจสอบว่า ตำรวจรายนี้เพิ่งซื้อรถมาแบบเป็นการโอนลอยเพราะจะมีเรื่องการเสียภาษีเข้ามา ก็อาจจะเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการโอนชื่อตัวกันสักที ก็ต้องฝากประชาชนในเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของรายการ ทางด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสะเทือนใจสังคม ต้องขอโทษที่เด็กๆ ของเราในฐานะผู้รักษากฎหมายมาทำผิดซะเอง ซึ่งในกรณีที่สังคมตั้งคำถามนั้น โดยหลังเกิดเหตุตามหลักการทรัพย์สินของผู้ตาย พนักงานสอบสวนก็ต้องรวบรมไปที่ สน. เพื่อเก็บรักษาและพิสูจน์ทราบว่าผู้เสียชีวิตคือใคร ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ เราก็พบแล้วว่าคุณหมอผู้ตายเป็นใคร ก็พยายามค้นข้อมูลจากระบบเพื่อตามหาญาติ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที จะใช้โทรศัพท์คุณหมอโทรฯ ออกก็ไม่ได้ พอดีมีเพื่อนโทรฯ มาก็ขอให้ช่วยติดต่อญาติก็ติดต่อไม่ได้ จนมีอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งโทรฯ เข้ามาเราก็ขอให้ช่วยติดต่อญาติใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ประมาณ 17.30 น. เราจึงติดต่อญาติได้ ก็สอดคล้องกับเวลาที่สังคมตั้งสงสัยว่า 2 ชม. ดังกล่าวนั้นหายไปไหน เราไม่มีการละเลยอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หลังจากผู้ก่อเหตุไปทำแผลกลับมา เราก็แจ้งข้อหาทันทีเลย ส่วนในเรื่องพฤติการณ์การทำผิด เราเอาผิดเต็มอัตราโทษแน่นอน และจะมีการพิสูจน์ให้สังคมเห็นโดยเร็วที่สุด พนักงานสอบสวนก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ไม่มีปล่อยปละละเลย เรื่องการขับขี่เราก็กำชับกับเจ้าหน้าที่ตลอด จะมีตำรวจหลายรายเองก็ถูกเอาผิดเช่นเดียวกัน เหมือนกับที่เราสั่งสอนลูกแต่ก็มีการฝ่าฝืนกฎเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเมื่อเป็นผู้รักษากฎ เราก็ต้องเอาผิดหนักกว่าการทำผิดของคนปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล เพราะหากสอบสวนและพบความผิดเพิ่มมากขึ้น เราจะแจ้งข้อหาเพิ่มแน่นอน..