ถือว่ายังเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีการเสียชีวิตของของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสียชีวิตจากการถูกรถบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลาย สร้างความเสียใจให้กับครอบครัว คนรอบข้างและเพื่อนพ้อง พี่น้องในวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด กลุ่มเพื่อนของหมอกระต่าย ได้มีการเปิดแคมเปญเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ Change.org ภายใต้หัวข้อ “ทุกชีวิตมีความหมาย ทางม้าลายต้องปลอดภัย” เพื่อเรียกร้องกฎหมายต้องปลอดภัย โดยล่าสุดเมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 29 ม.ค. 2565 มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญดังกล่าว จำนวน 19,419 คน

ซึ่งกลุ่มเพื่อนหมอกระต่ายได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของแคมเปญนี้ไว้ด้วยว่า “ในปัจจุบันการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนทางม้าลายมีมากกว่า 500 รายต่อปี และอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 55 แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีความจริงจังในการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้ากับหลายๆ ครอบครัว รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นกับ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย –เพื่อนรักของพวกเรา—ที่เสียชีวิตจากถูกรถจักรยานยนต์ชนในขณะข้ามทางม้าลาย”

ปัญหาทางม้าลายแก้ได้ด้วย “ทางม้าลายปลอดภัย-หยุดรถให้คนข้าม-บังคับใช้กฎหมาย-ปรับบทลงโทษ” พวกเราขอยื่นข้อเรียกร้องแก่รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ทางม้าลายต้องปลอดภัย: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่น ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม หากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจรรวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม มีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อยเพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจัง เป็นต้น

2.หยุดรถให้คนข้าม: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจความสำคัญของการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามเป็นประจำ และทำการรณรงค์ต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ

3.บังคับใช้กฎหมาย: รัฐและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมและลงโทษอย่างจริงจัง กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

4.ออกกฎหมายใหม่: แยกเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วรถขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด และมีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ เช่น ตัดคะแนน หรือบังคับให้เข้ารับการอบรม หรือ ยึดพาหนะ

5.ปรับบทลงโทษ: ออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 170 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เพราะอุบัติเหตุต่อคนข้ามทางม้าลายในไทยเป็นปัญหามานานและไม่เคยได้รับการแก้ไข ผู้ขับขี่มักไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิด หรือเห็นว่าโทษมีน้อย ดังนั้น รัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังร่วมกับแก้ไขกฎหมายและทำการรณรงค์สร้างจิตสำนึก เพื่อให้การข้ามทางม้าลายในไทยทำได้ง่ายเท่ากับนานาอารยประเทศที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามากที่สุด

พวกเราอยากให้เหตุอันน่าเศร้าใจของคุณหมอกระต่าย เป็นแรงผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเรื่องนี้ เราไม่อยากพบคนที่เสียชีวิตจากเหตุเดียวกันแบบนี้ในไทยอีก

หากใครเห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ โปรดช่วยกันลงนามเพื่อพวกเราจะได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมดเพื่อยื่นกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมาธิการคมนาคมของรัฐสภา ตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ขอให้การตายของเพื่อนเรา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย”..