เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ลานอเนกประสงค์ อุทยานแห่งชาติเขาสก อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี นายธัญนรินทร์ ณ นคร  ผอ.สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 เป็นประธานเปิดเสวนา “ก้าวแรก อุทยานแห่งชาติเขาสก สู่มรดกอาเซียน” เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการรักษาและการใช้ประโยชน์ ในอุทยานแห่งชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “อุทยานมรดกอาเซียน” โดยมีนายวรพจน์ ล้อมลิ้ม ผอ.ส่วนอุทยานฯ นายสุพจน์ เนียมคง ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติไฟป่า และนายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานฯเขาสก ให้การต้อนรับ

นายธัญนรินทร์ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม อนุมัติให้อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานมรดกอาเซียน ลำดับที่ 40 ของอาเซียน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564  ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อุทยานฯเขาสกได้ดำเนินกิจกรรมการใช้ประโยชน์ร่วมกันกับชุมชนในลักษณะภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ยั่งยืน ทั้งนี้เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายผู้ประกอบและกลุ่มเครือข่ายนักอนุรักษ์ในพื้นที่ ถือเป็นก้าวสำคัญของอุทยานฯเขาสก ที่ได้รับการปกป้องดูแลรักษาไว้ให้คงความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ตลอดไป บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

ด้านนายสมเจตน์ หัวหน้าอุทยานฯเขาสก กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียน ทำให้เราเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว โดยตั้งแต่เดือน ต.ค-ธ.ค. 64 ที่ทั่วโลกประสบกับโรคระบาด แต่การท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯเขาสก มีแนวโน้มดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 45,000 คน และมีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ และในอนาคตอันใกล้นี้ เรากำลังเตรียมการเพื่อยกระดับให้กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสกมีอาณาบริเวณ ต.คลองศก ต.พังกาญจน์ ต.พนม อ.พนม รวมถึง ต.พะแสง ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการขนานนามให้เป็นดินแดนศูนย์กลางของ “ขุนเขาแห่งป่าฝน” เนื่องจากเป็นผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญของภาคใต้ อันประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาสก, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา, อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,296,879.5 ไร่ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยพืชพรรณมากมายหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่น อันได้แก่ บัวผุด, ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือปาล์มหลังขาว และปาล์มพระราหู.

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะพบสัตว์ป่าสงวนถึง 4 ชนิด คือ เก้งหม้อ, เลียงผา, สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน ที่สำคัญยังเป็นผืนป่าใหญ่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ทั้งน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน บางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง  ตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จนกลายเป็นอันซีน แหล่งท่องเที่ยวได้รับฉายาว่า “กุ้ยหลินเมืองไทย