นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องกระดาษ กล่องและถุงสำหรับใส่ของบรรจุอาหาร กำลังขยายตัวและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มอย่างต่อเนื่อง หลังจากกระแสความนิยมซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ และสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเติบโตกำลังมาแรง เห็นได้จากไตรมาสแรกปี 64 ยอดการค้าบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกมีมูลค่า 110,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 57,813. ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้ามูลค่า 53,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% โดยผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน

ทั้งนี้ หลังจากนี้คาดว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์โลกจะขยายตัว 7.5% ต่อปี ระหว่างปี 65-70 ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการค้าและส่วนแบ่งตลาดที่กำลังเติบโต โดยปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล เป็นต้น

นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เช่น ไม่เป็นขยะทะเล สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ ที่สำคัญผู้บริโภคในหลายประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย สหรัฐ บราซิล เยอรมนี อิตาลี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปัจจัยสุดท้ายผู้บริโภคนิยมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กล่องกระดาษ ขวดแก้ว และเหยือกแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ฟิล์มพลาสติกชนิดสลายตัว หรือรีไซเคิลได้ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติก กระดาษ และอะลูมิเนียมฟอยล์อยู่รวมกัน รวมถึง ถุงบรรจุขนมขบเคี้ยว ถุงอาหารแช่แข็ง  

“ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าส่งออกไตรมาสแรก 844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% โดยมีสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่สุด และมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกมากที่สุด เนื่องจากไทยมีจุดแข็ง คือ ความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย”