เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมด้วย น.ส.ลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล นายจักรกฤษณ์ วิบูลย์ลักษณากุล น.ส.สุธิดา เนาว์รุ่งโรจน์ เจ้าของโรงงานผลิตขนมหวาน และล่าม ได้เดินทางมาที่สถานทูตเมียนมา พร้อมนำภาพถ่ายและเอกสารระบุชื่อ นายเน ซอ โม ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมา เข้าพบตัวแทนอุปทูตสถานทูตเมียนมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่าบุคคลในภาพถ่ายนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเมียนมา จริงหรือไม่

ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า หลังจากได้เข้าพบตัวแทนอุปทูตและยื่นเอกสารไปก็ได้รับคำตอบว่า บุคคลในภาพไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสถานทูตเมียนมาแต่อย่างใด ซึ่ง น.ส.ลักษมน ก็ได้มอบเอกสารขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับผู้ที่แอบอ้าง ว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาจำนวน 2 แฟ้ม ซึ่งทางตัวแทนอุปทูตสถานทูตเมียนมา ก็ได้ยืนยันว่าจะช่วยตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการออกจดหมายมายืนยันในภายหลังว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร

ทนายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในขณะนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่า นายเน ซอ โม ไม่ได้เป็นบุคคลในสถานทูตเมียนมาแต่อย่างใด และทางเราก็ได้เดินทางไปแจ้งความไว้แล้วในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จทำให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา โดยมิได้มีกระทำความผิดเกิดขึ้น และข้อหากรรโชกทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย รู้สึกว่าถูกคุกคามและถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากวันที่เกิดเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ DSI ระบุว่า มาตรวจโควิด-19 ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย กลับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาค้ามนุษย์ จากนั้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ทาง DSI ได้ส่งสำนวนคดีต่ออัยการ ซึ่งทางผู้เสียหายรู้สึกว่า เหตุใดการทำคดีจึงมีความรวดเร็วหรือไม่อย่างไร อีกทั้งทางผู้เสียหายได้ประสานยื่นหลักฐานชี้แจงเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเอกสารบางอย่างใช้ไม่ได้

โดยหลังจากนี้ เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวต่อไป ส่วนทางด้านของคดีค้ามนุษย์ที่ทาง DSI ได้แจ้งข้อกล่าวหานั้น อยู่ในขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานและนัดผู้เสียหายทั้ง 3 ราย ไปศาลอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค.นี้