เมื่อวันที่ 27 ก.พ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) ฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และปัตตานี และสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์จ ันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานระดมกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็วที่สุด

 พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า มท. โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และประสานงานการให้ความช่วยเหลือประชาชน และบริหารสถานการณ์ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และกองอำนวยการจังหวัดมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 65 ที่ได้เริ่มเกิดสถานการณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฐานะผู้อำนวยการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการทุกระดับ ของทั้ง 6 จังหวัด ได้ใช้กลไกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุม สั่งการ และอำนวยการ ระดมสรรพกำลัง ประสานการปฏิบัติทั้งฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เครื่องจักรกลในพื้นที่ของทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำและเปิดทางน้ำในพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเส้นทางคมนาคมที่ถูกกระแสน้ำตัดขาด ได้มีการประสานเจ้าหน้าที่แขวงการทาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำป้ายเตือน พร้อมอำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย และเร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด ถูกตัดขาด และจัดยานพาหนะเข้าช่วยเหลือประชาชนในด้านการสัญจรชั่วคราว ซึ่งนับได้ว่าทุกจังหวัดสามารถดำเนินการบริหารสถานการณ์ในการเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงทีต่อเนื่อง และจะได้มีการรายงานมายังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะต่อไป

“มท. ได้ติดตามและเน้นย้ำแนวทางในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและวาตภัยเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการในแต่ละระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการบูรณาการองค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ ลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนทุกช่องทาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตนในช่วงสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยได้อย่างปลอดภัยรวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสาร ขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ สำรวจ ตรวจสอบ ตรวจตรา ความปลอดภัยของบ้านเรือน และทรัพย์สินประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและบรรเทาความวิตกกังวลของประชาชน และหลังสถานการณ์ให้สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องได้รับความปลอดภัย โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

 ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และปัตตานี เมื่อวันที่ 24 – 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 18 อำเภอ 85 ตำบล 277 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,802 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัด ระดับน้ำลดลง นอกจากนี้ ยังได้เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราชสงขลา และปัตตานี รวม 13 อำเภอ 54 ตำบล 143 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 740 หลัง.