เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการดูงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด ว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน และมีการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ เพื่อทุกครัวเรือนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี เป็นหนึ่งใน 70 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบที่เข้าร่วมแก้ไขหนี้สินครูฯ ด้วยแนวทางการช่วยเหลือสมาชิกที่หลากหลาย อาทิ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4.90 ต่อปี ซึ่งถือเป็น 1 ในสหกรณ์ 10 แห่ง ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงจนเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5, เป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง ไม่ได้กู้ยืมเงินที่อื่นมาดำเนินการ, มีการปรับโครงสร้างหนี้หรือรวมหนี้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีเงินเดือนติดลบ ให้มีเงินเดือนคงเหลือใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นเป้าหมายพื้นฐานหลักของนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการเห็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดข้อกังวลในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้คุณครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนของเรา ที่จะเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครู หรือ สถานีแก้หนี้ครูขึ้น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด และระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งเปิดรับลงทะเบียนครูที่ต้องการเข้ารับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 20,000 ราย โดยยังคงเปิดรับการลงทะเบียนไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนดปิด อย่างไรก็ตาม เมื่อครบการเปิดลงทะเบียน 1 เดือน ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ จะมีการประมวลผลว่าครูมีปัญหาเรื่องใดมากที่สุด เพื่อจัดลำดับการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

“การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบในครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภายในของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่จะเป็นกลไกสำคัญของการแก้หนี้ครูให้ประสบความความสำเร็จ วันนี้ดิฉันได้เห็นโมเดลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ และจะนำรูปแบบที่เหมาะสมไปปรับใช้กับสหกรณ์อื่น ๆ” นางสาวตรีนุช กล่าว