เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ขอเรียนประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการเตรียมตัวและการดำเนินการ เมื่อพบการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบนสื่อสังคมออนไลน์ ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ฯ ใหม่ ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ที่จะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 นี้

ทั้งนี้ในปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของทุกคน รวมถึงมีการทำกิจกรรมต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมถึงงานการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหรือผลงานที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ บนสื่อออนไลน์ รวมถึงการเกิดขึ้นของผลงานที่มีลิขสิทธิ์บนสื่อต่างๆ ในยุคใหม่ ส่งผลให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยสาระสำคัญนั้น ได้มีการกำหนดมาตรการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ รวมถึงผลงานNon-Fungible Token (NFT) เป็นชื่อเรียกของ Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง โดยเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียว ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งรองรับการค้าบน Metaverse ในอนาคต และให้อำนาจในการระงับการเผยแพร่ผลงาน หากมีการลงผลงานซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการสื่อนั้นๆ สามารถนำงานดังกล่าวออกจากระบบได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อีกทั้งยังขยายความคุ้มครองผลงานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของเจ้าของผลงาน และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี หลังจากเสียชีวิต

โดยในปัจจุบันกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 (มาตรา 2 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 13ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565) ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวนั้นเป็นการยกระดับการคุ้มครองผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ และเป็นการผลักดันเศรษฐกิจไปในตัว อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเกี่ยวกับผลงานของคนไทยให้มากขึ้นอีกเช่นกัน

นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดที่เกียวข้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ให้รับรู้ถึงการคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์ รวมถึงขอบเขตการคุ้มครองและวิธีการดำเนินการหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป

รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์และสิทธิของตัวท่าน และหากพบมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์เตรียมเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้

1.เอกสารร้องทุกข์ เป็นหนังสือมอบอำนาจ/เอกสารยืนยันลิขสิทธิ์

  • กรณีมีการรับมอบอำนาจมาจากหลายบริษัทฯ และหลายช่วงจะต้องเรียงลำดับจากหนังสือมอบอำนาจฉบับปัจจุบันลงไปเรื่อยๆจนถึงหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับสุดท้ายหรือถึงผู้สร้างสรรค์โดยตรง
  • หนังสือมอบอำนาจในแต่ละช่วงจะต้องมีการรับรองของบริษัทฯผู้มอบอำนาจช่วง (เพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ หรือไม่)
  • เอกสารยืนยันลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เพลง เกม คอมพิวเตอร์ หรือ ตัวการ์ตูน จะต้องแนบมาพร้อมเอกสารหนังสือมอบอำนาจ (ชื่อเรื่องภาพยนตร์, ชื่อเพลง, ชื่อเกม, ชื่อตัวการ์ตูน, โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เสียหายหรือผู้รับมอบอำนาจต้องการร้องทุกข์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่าตรงกับที่ผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์)
  • กรณีผู้เสียหายหรือผู้รับมอบอำนาจ มีการรับมอบอำนาจมาจากบริษัทฯ ซึ่งมีลิขสิทธิ์ทั้งงานภาพยนตร์ งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และงานโสตทัศนวัสดุ จะต้องมีเอกสารยืนยันลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวข้างต้นทุกงานครบถ้วนด้วย
  • กรณีงานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเป็นภาษไทย โดยผ่านการรับรองความถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.แคปภาพหน้าจอที่ปรากฏผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์ม

-คัดลอกภาพถ่ายมาจากเว็บไซต์ที่ละเมิด ให้ปรากฏภาพถ่ายที่ถูกละเมิด วัน เดือน ปี ที่พบการกระทำผิด

3.หากกรณีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้า

-หลักฐานการสนทนาติดต่อซื้อขาย

-หลักฐานการโอนเงินและรายการเดินบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย

-นำสินค้าที่ได้จากการสั่งซื้อ มาเป็นพยานหลักฐาน

4.จัดทำภาพเปรียบเทียบ ระหว่างภาพที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย กับ ภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์

-ให้ปรากฏข้อความ ว่างานอันมีลิขสิทธิ์สร้างสรรค์และโฆษณา เผยแพร่ ผ่านช่องทางไหน เมื่อใด

5.คดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดต่อส่วนตัว (ร้องทุกข์ภายในอายุความ 3 เดือน นับแต่วันพบการกระทำผิด)

สามารถร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนได้ทุกพื้นที่ โดยมีหน่วยงานหลักในการรับแจ้งและดำเนินคดีลักษณะดังกล่าวได้แก่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้นดังนั้นหากพบว่ามีการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว ขอให้ท่านรวบรวมพยานหลักฐานตามที่กล่าวมา และเข้าแจ้งความกับทางหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีลักษณะดังกล่าวโดยตรงต่อไป

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิดอื่นๆ สามารถแจ้ง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.