เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดการขยะในครัวเรือนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเข้าระบบการรักษาที่ตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือบางคนแยกตัวเองไม่ได้เข้าระบบ รวมถึงกรณีประชาชนทั่วไปที่มีการตรวจคัดกรองตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK จำนวนมากนั้น กรมอนามัย มีข้อแนะนำมาการจัดการกับขยะ โดยแยกเป็นกลุ่มๆ โดยกรณีผู้ที่ติดเชื้อกักตัวที่บ้าน แบ่งขยะเป็น 1.ขยะจากเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ อาทิ อาหาร ให้แยกขยะพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ หรือฆ่าเชื้อ แล้วมัดปากถุง ถือว่าเป็นขยะทั่วไป

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า 2.กรณีขยะที่มีการสัมผัสสารคัดหลั่ง อาทิ ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) หน้ากากอนามัย ถือเป็นขยะติดเชื้อ จึงขอแนะนำว่าถ้าไม่ได้มีการฆ่าเชื้อ จะต้องทิ้งในถุงมิดชิด มัดปากถุงให้แน่นแล้ว หาถุงอีกชั้นมารอง จากนั้นมัดถุงให้แน่นแล้วพ่นยาฆ่าเชื้อหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณปากถุง เขียนข้อความกำกับว่า “ขยะติดเชื้อ” แล้วทิ้งถังขยะ หรือประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นให้ทราบ เพื่อมาจัดเก็บไปทำลายให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากสามารถฆ่าเชื้อได้เองโดยใช้น้ำยาซักผ้าขาว หรือไฮโปคลอไรด์มาเจือจางในสัดส่วนที่เหมาะสม ราดไปยังขยะติดเชื้อที่ใส่ในถุงมัดปากให้แน่น จากนั้นก็ซ้อนถุงอีกชั้นมัดปากให้แน่น แล้วฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้ออีกครั้ง หากทำเช่นนี้ จะถือว่าขยะดังกล่าวเป็นขยะทั่วไป สามารถกำจัดด้วยวิธีปกติได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีการตรวจคัดกรองด้วยชุดเอทีเค ก็จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กรณีตรวจแล้ว ผลเอทีเคขึ้น 2 ขีด ถือเป็นคนติดเชื้อหรืออาจะติดเชื้อ ดังนั้น ขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่งจะเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งวิธีกำจัดก็เหมือนกับคำแนะนำในการจัดการขยะติดเชื้อข้างต้น 2.กรณีที่ผลตรวจด้วยเอทีเคเป็นลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ติดเชื้อ เพราะเอทีเคไม่ได้ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับในรายบุคคลอาจมีเชื้อโรคอื่นๆ อยู่ในสารคัดหลั่ง อาทิ เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อวัณโรค ก็ให้จัดการด้วยวิธีที่แนะนำเรื่องการจัดขยะติดเชื้อเช่นเดียวกัน ส่วนประชาชนทั่วไป ถ้าพบเจอขยะจำพวกที่มีการสัมผัสสารคัดหลั่งในธรรมชาติ ซึ่งอาจไม่ทราบว่ามีการฆ่าเชื้อมาหรือไม่นั้น ไม่ต้องตกใจ แต่ไม่ต้องไปจับ ไม่คุ้ยเขี่ย และขอให้แจ้งหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาจัดการต่อไป

“ขณะนี้ปริมาณขยะ ทั้งหน้ากากอนามัยและชุดตรวจเอทีเคเพิ่มปริมาณขึ้น หากประชาชนช่วยแยกขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยใช้ไฮโปคลอไรท์ผสมกับน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม ราดขยะติดเชื้อ ใส่ถุงมัดปาก 2 ชั้น แล้วฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อซ้ำที่บริเวณปากถุงอีกครั้ง ก็จะช่วยลดขยะติดเชื้อ เป็นขยะทั่วไป ซึ่งการกำจัดจะทำได้ง่ายกว่า อีกทั้ง เมื่อช่วยกันแยกตั้งแต่ระดับครัวเรือน ก็จะไม่เกิดภาพที่น่ากังวลในสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว