เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า เวลา 09.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยมีวาระที่สำคัญ คือการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง บางส่วน เนื้อที่ 397 ไร่ เพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) แม่เมาะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา โดยพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังที่มีความสมบูรณ์ และตามริมลำน้ำเป็นป่าเบญจพรรณ พบไม้มีค่าที่สำคัญ บริเวณน้ำท่วมถึงอยู่ในลำน้ำแม่เมาะ สองฝั่งลำน้ำมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้ใหญ่และลูกไม้ขึ้นอยู่จำนวนมาก พบร่องรอยสัตว์ป่าที่สำคัญหากินตลอดลำน้ำ โดยเฉพาะนกยูง ที่มีสถานะความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Globally Endangered species) 

ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและที่สำคัญของนกยูง เนื่องจากนกยูงเลือกใช้พื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยแม่เมาะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย หาอาหาร เกี้ยวพาราสี ผสมพันธุ์ พื้นที่ทำรังวางไข่ พื้นที่เลี้ยงลูก และพื้นที่พักนอนในเวลากลางคืน  

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นหย่อมป่าปฐมภูมิ ที่มีขนาดใหญ่และมีความต่อเนื่องซึ่งไม่ถูกบุกรุกแผ้วถาง จึงถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในสภาวะโลกปัจจุบัน

จากการศึกษาวิจัยและภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าโดย Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ สามารถพบนกยูงได้ทุกวัย ตั้งแต่เพศผู้และเพศเมียโตเต็มวัย วัยรุ่น และที่สำคัญคือแม่และลูก ๆ นกยูง 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของนักวิจัยตลอดระยะเวลาสองปีในทุกช่วงฤดูกาล พบนกยูงตั้งแต่ขนาดที่ฟักออกจากไข่ได้ไม่นานนัก หากมีโครงการอ่างฯ แม่เมาะเกิดขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะสูญหายไป

นอกจากจะเป็นพื้นที่อาศัยหากินทั่วไปของนกยูงแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำคัญอย่างพื้นที่ทำรังวางไข่และพื้นที่เลี้ยงลูกในหลายวัยของนกยูงก่อนที่จะโตเต็มที่และแยกจากแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่แหล่งประชากรสำคัญ (Stronghold) ของนกยูงในระดับภูมิภาค

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ เพราะไม่มีป่า ไม่มีน้ำ และไม่มีชีวิต.